“คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไป และเดี๋ยวนี้ด้วยเมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้” หนึ่งในพระบรมราโชวาท
๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ วันที่กล่าวถึงทีไรน้ำตาก็ไหลปวดหัวใจเกินบรรยาย วันนั้นเป็นวันที่บีบหัวใจคนไทยทั้งประเทศ หลังจากทางราชสำนักพระราชวังได้ออกประกาศเมื่อเวลา ๑๘.๔๕ น. ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต สิ้นคำแถลงการณ์น้ำตาไหลเจ็บปวดใจเหมือนมีสายฟ้ามาฟาดที่กลางดวงใจประชาชนของพระราชา
ในประกาศจากสำนักพระราชวัง มีใจความว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันศุกร์ที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ตามที่สำนักพระราชวังได้แถลงให้ทราบเป็นระยะแล้วนั้น แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ แต่พระอาการประชวรหาคลายไม่ ได้ทรุดหนักลงตามลำดับถึงวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ เวลา ๑๕ นาฬิกา ๕๒ นาที เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ ๘๙ ทรงครองราชสมบัติได้ ๗๐ ปี
สำนักพระราชวัง
๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙
ทั้งนี้ ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯจากวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๗ เพื่อประทับรักษาพระอาการประชวร ต่อมาสำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ ๑ เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปรอท (ไข้) สูง ๓๘.๒ องศาเซลเซียส ผลการตรวจพระโลหิตแสดงว่ามีภาวะติดเชื้อ มีการเปลี่ยนแปลงในความดันพระโลหิต และอัตราการเต้นของพระหทัยเร็วขึ้น คณะแพทย์จึงได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช เพื่อถวายการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษ จากนั้นเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ ๑๒ ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด คณะแพทย์ฯได้รายงานว่า พระอาการทั่วไปดีขึ้น และพระวรกายแข็งแรงเป็นลำดับ
และในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จออกจากพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กลับมาประทับที่โรงพยาบาลศิริราช โดยมีแถลงการณ์ฉบับที่ ๑๓ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของคณะแพทย์ฯ เพื่อถวายตรวจพระสมองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อติดตามผลของการใส่สายระบายน้ำไขสันหลังจากช่องไขสันหลังเข้าสู่ช่องพระนาภี พระองค์ประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช กระทั่งวันสวรรคต รวมระยะเวลา ๕๐๒ วัน
เหตุการณ์ดังกล่าวอยากให้เป็นเพียงความฝันร้ายเท่านั้น…. แต่แล้วในวันที่ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” เคลื่อนขบวนมายังพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ น้ำตาประชาชนของพระราชาก็ไหลพรากปิ่มแทบขาดใจ สิ่งที่เห็นตรงหน้าคือความจริงที่ไม่ใช่ความฝัน และความจริงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ประชนชนขอน้อมถวายจงรักภักดีเป็นข้ารองพระบาทในทุกๆชาติไป และสิ่งที่พระองค์ท่านสอน คือ แนวทางในการดำรงชีวิตของเหล่าราษฎร ซึ่งเหล่าราษฎรจะนำพึ่งไปปฎิบัติ
น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
สืบสานพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่าน
๑.คนดี
“ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดี และคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”
(พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๒)
๒. อนาคตทำนายได้
“ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เกิดที่เป็นอยู่แก่เราในวันนี้ ย่อมมีต้นเรื่องมาก่อน ต้นเรื่องนั้นคือ เหตุ สิ่งที่ได้รับคือ ผล และผลที่ท่านมีความรู้อยู่ขณะนี้ จะเป็นเหตุให้เกิดผลอย่างอื่นต่อไปอีก คือ ทำให้สามารถใช้ความรู้ที่มีอยู่ทำงานที่ต้องการได้ แล้วการทำงานของท่าน ก็จะเป็นเหตุให้เกิดผลอื่นๆ ต่อเนื่องกันไปอีก ไม่หยุดยั้ง ดังนั้นที่พูดกันว่า ให้พิจารณาเหตุผลให้ดีนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ให้พิจารณาการกระทำหรือกรรมของตนให้ดีนั่นเอง คนเราโดยมากมักนึกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรเราทราบไม่ได้แต่ที่จริงเราย่อมจะทราบได้บ้างเหมือนกัน เพราะอนาคต ก็คือ ผลของการกระทำในปัจจุบัน”
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๘กรกฎาคม ๒๕๑๙)
๓. ความดี
“การทำดีนั้นทำยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว แต่ละคนจึงต้องตั้งใจและเพียรพยายามให้สุดกำลัง ในการสร้างเสริมและสะสมความดี”
(พระบรมราโชวาทพระราชทาน แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สวนอัมพร ๑๔ สิงหาคม ๒๕๒๕)
๔. การทำงาน
“เมื่อมีโอกาสและมีงานทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้ หรือเงื่อนไขอันใด ไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆนั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และ ความซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น”
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ๘ กรกฎาคม ๒๕๒๓)
๕. คุณธรรมของคน
“ประการแรก คือ ความซื่อสัตย์ ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจฝึกใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัตย์ความดีนั้น ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออมที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัตย์สุจริต ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมคุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงาม จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุขความร่มเย็นและมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไป”
(พระบรมราโชวาท ในพิธีบรวงสรวง สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ๕ เมษายน ๒๕๓๕)
๖. ความเพียร
“ความเพียรที่ถูกต้องเป็นธรรม และพึงประสงค์นั้นคือความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไป และระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่ อย่างหนึ่ง กับความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีงาม ให้บังเกิดขึ้นและระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไป อย่างหนึ่ง ความเพียรทั้งสองประการนี้ เป็นอุปการะอย่างสำคัญ ต่อการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน ถ้าทุกคนในชาติจะได้ตั้งตนตั้งใจอยู่ในความเพียรดังกล่าว ประโยชน์และความสุขก็จะบังเกิดขึ้นพร้อม ทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม”
(พระราชดำรัสพระราชทานในพิธีกาญจนาภิเษก ทรงครองราชย์ ครบ ๕๐ปี พ.ศ.๒๕๓๙)
๗. แก้ปัญหาด้วยปัญญา
“ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มีทางแก้ไขได้ ถ้ารู้จักคิดให้ดี ปฏิบัติให้ถูก การคิดได้ดีนั้น มิใช่การคิดได้ด้วยลูกคิด หรือด้วยสมองกล
เพราะโลกเราในปัจจุบันจะวิวัฒนาการไปมากเพียงใดก็ตาม ก็ยังไมมีเครื่องมืออันวิเศษชนิดใด สามารถขบคิดแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างสมบูรณ์
การขบคิดวินิจฉัยปัญหา จึงต้องใช้สติปัญญา คือคิดด้วยสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพื่อหยุดยั้งและป้องกันความประมาทผิดพลาด และอคติต่างๆมิให้เกิดขึ้น
ช่วยให้การใช้ปัญญาพิจารณาปัญหาต่างๆ เป็นไปอย่างเที่ยงตรง ทำให้เห็นเหตุเห็นผลที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นกระบวนการได้กระจ่างชัด ทุกขั้นตอน”
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๑สิงหาคม ๒๕๓๙)
๘. คนเราจะต้องรับและจะต้องให้
“คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไป และเดี๋ยวนี้ด้วยเมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้”
(พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๒๑)
๙. พูดจริง ทำจริง
“ผู้หนักแน่นในสัจจะพูดอย่างไร ทำอย่างนั้น จึงได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธาเชื่อถือและความยกย่องสรรเสริญ จากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือ พูดจริง ทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด และสร้างเสริมความดี ความเจริญ ให้เกิดขึ้นทั้งแก่บุคคลและส่วนรวม”
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๐)