10 กันยายน 2564 : สืบเนื่องจากมีผู้เอาประกันภัยกว่า 100 ราย ไปร้องเรียนยังบริษัทประกันภัยหลายแห่ง กรณีบริษัทฯ ปฏิเสธการจ่ายสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด-19 นั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.มีการออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อที่จะขจัดปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
โดย ล่าสุดมีการจัดตั้ง "ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนประกันภัยโควิด-19" เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัย กรณีบริษัทประกันภัยจ่ายเคลมโควิด-19 ล่าช้า ซึ่งสามารถร้องเรียนไปยัง คปภ.ได้ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์
เครดิตรูป : นิตยสารไทยแลนด์อินชัวรันส์
อีกทั้ง ก่อนหน้านี้ คปภ.มีการออกมาตรการให้บริษัทประกันภัยดำเนินการกล่าวคือ มาตรการ 3, 7, 15
โดยมาตรการ 3 หมายถึง บริษัทประกันภัยต้องตรวจสอบเอกสารที่ทางผู้เอาประกันภัยมายื่นร้องเรียนสินไหมทดแทนภายใน 3 วัน หากเอกสารครบถ้วนตามเงื่อนไข บริษัทฯ จะต้องจ่ายสินไหมภายใน 15 วัน
ส่วนมาตรการ 7 หมายถึง หากผู้เอาประกันยื่นเอกสารร้องเรียนแล้ว บริษัทฯ มีข้อสงสัยต้องตรวจสอบ สามารถส่งเอกสารมายัง คปภ.ช่วยพิจารณาอีก 3 วัน เมื่อพิจารณาแล้วพบว่าไม่ติดปัญหาก็ต้องจ่ายภายใน 15 วัน
สุดท้ายมารตรการ 15 หมายถึง เอกสารที่ผู้เอาประกันยื่นมาไม่ติดปัญหาใดๆ บริษัทประกันภัยต้องจ่ายสินไหมภายใน 15 วัน
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ต้องยอมรับว่า บริษัทประกันภัยทุกแห่งตรวจสอบเอกสารไม่ทัน เนื่องจากมีผู้มายื่นเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก จากเดิมมีจำนวนหลักร้อยรายเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 3-4 พันราย/วัน ตามจำนวนผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 รอบใหม่ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริษัทประกันภัยที่รับความคุ้มครองแบบ "เจอ จ่าย จบ" 5 บริษัท ที่ถูกร้องเรียนประกันโควิดสูงสุด ได้แก่ บมจ.เดอะ วัน ประกันภัย, บมจ.สินมั่นคงประกันภัย, บมจ.วิริยะประกันภัย, บมจ.อาคเนย์ประกันภัย และบมจ.เอเชียประกันภัย
เมื่อพิจารณาถึงแบบประกันโควิด -19 ก็มีให้เลือก หลากหลายแบบ หลายราคา อัตราเบี้ยประกันภัย เริ่มจากเบี้ยประกัน 299, บาท, 399 บาท, 499 บาท, 699, 899, 919 รวมถึง 1,199 บาท ความคุ้มครองเริ่มจาก 50,000-100,000 บาท หรือหากกรณีการแพ้วัคซีนก็คุ้มครองเพิ่มอีก และการท็อปอัพเงินชดเชยให้ด้วยหากเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล
"แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า มีบริษัทประกันภัย 2 แห่ง จับได้ว่า มีผู้ทำเอกสารปลอม 2 ราย (ตัวเลขวันที่ 8 ก.ย.64) เพื่อจะมาแอบอ้างขอเบี้ยประกันซึ่งเมื่อเกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น บริษัทประกันภัยจึงต้องมีการตรวจสอบเอกสารอย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่า ผลของการตรวจ RT-PCR (Polymerase chain reaction) เป็นการ Swab เก็บตัวอย่างเชื้อบริเวณลำคอ และหลังโพรงจมูก (เช่นเดียวกันกับตรวจ Antigen) สามารถทำปลอมกันได้ จึงจำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์กำกับ ประกอบการพิจารณา จึงทำให้เป็นสาเหตุของการล่าช้าเพิ่มขึ้นมาอีก"
ต่อเรื่องดังกล่าว ทางด้าน นายอรัญ ศรีว่องไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) (ชื่อเดิม : สินทรัพย์ประกันภัย) เปิดเผยถึงกรณีที่มีประชาชนมาเรียกร้อยค่าสินไหมทดแทนการประกันภัยโควิด-19 ว่า ได้มีการชี้แจงต่อประชาชนให้ไปยื่นร้องเรียนที่สนามฟุตซอล Super Star Arena ซอยลาดพร้าว 80 ที่บริษัทฯ จัดเช่าไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ อีกทั้งยังเป็นไปตามกฎเกณฑ์การเว้นระยะห่างของทางภาครัฐกำหนด แต่กลับมีแกนนำกลุ่มจำนวนหนึ่งชักชวนให้ผู้เอาประกันภัย มาร้องเรียนหน้าบริษัทฯแทน จึงเกิดการโกลาหลขึ้น
โดยแกนนำกลุ่มดังกล่าว ไม่ได้ทำประกันภัยโดยตรง แต่ถือรายชื่อผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องแทน กระบวนการนี้อาจจะมีการระดมคนโดยสร้างกลุ่มไลน์ขึ้นมาเพื่อขอเป็นตัวแทนไปดำเนินการให้ และขอค่าเสียเวลาจากผู้เอาประกันภัยหากได้รับค่าสินไหมทดแทนแล้ว โดยราคาค่าเหนื่อยก็ขึ้นอยู่กับการตกลงกันหรือ 300 บาท/คน เป็นต้น เรื่องนี้ทางตำรวจจะดำเนินการตรวจสอบต่อไป
แต่สำหรับทุกวันนี้ ผู้เอาประกันมายื่นขอรับสินไหมทดแทนประมาณ 30-40 ราย/วัน มีจำนวนทยอยลดลงจากช่วงแรก เมื่อเอกสารครบถ้วนถูกต้อง บริษัทฯ จะจ่ายสินไหมทดแทนเข้าบัญชีโดยตรง
ปัจจุบัน บริษัทฯ มียอดจ่ายสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด-19 แล้วคิดเป็นเงิน 500 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 300 ล้านบาท รวมประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับเบี้ยประกันภัยโควิดปีนี้รับมา 400 ล้านบาท (ยุติการรับประกันตั้งแต่ 30 มิ.ย.64) ที่ผ่านมา
นายอรัญ กล่าวต่อไปว่า การขาดทุนจากการรับประกันนี้ ตนมีเป้าหมายที่จะกู้เงินจำนวน 500 ล้านบาท เพื่อมาจ่ายเคลมโควิด ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา โดย 30 มิถุนายน 2565 เคลมประกันโควิดก็จะหมด และบริษัทฯ ยังมีเบี้ยประกันภัยแบบอื่นที่ยังดำเนินการอยู่เป็นปกติ โดยภายหลังจากนี้ก็จะเร่งดำเนินการรับประกันภัยรูปแบบอื่นๆ ต่อไป