WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันพฤหัสบดี ที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
เงินติดล้อ ได้รับสินเชื่อจาก IFC 3,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจ

กรุงเทพฯ ประเทศไทย 25 สิงหาคม 2564 : นับเป็นครั้งแรกที่ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ปล่อยสินเชื่อ ให้กับสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (NBFI) ในประเทศไทย คือ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (TIDLOR) โดยการให้สินเชื่อของ IFC ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยการส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ การเสริมสร้างการจ้างงาน และการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน

การสนับสนุนทางการเงินของ IFC ในรูปแบบของสินเชื่อ มีจำนวนสูงถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,000 ล้านบาท) ซึ่งจะช่วยให้ TIDLOR สามารถเพิ่มปริมาณการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) ในประเทศได้ โดย IFC จะช่วยให้ TIDLOR สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลายจากนักลงทุนต่างประเทศ และสนับสนุนบริษัทในการยกระดับกรอบการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตของตนเอง

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมและ รายย่อย (MSMEs) คิดเป็นร้อยละ 86 ของแรงงานในประเทศไทย และคิดเป็นร้อยละ 45 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ก่อนเกิดโรคโควิด-19 ธุรกิจเหล่านี้ยังขาดการเข้าถึงทางการเงินประมาณ 41,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 10.3% ของ GDP ของประเทศ และต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ การยกเลิกคำสั่งซื้อ ยอดขายที่ลดลง ห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงัก และการขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน อีกทั้งการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ของธนาคารยังมีความเข้มงวดขึ้น จากอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่สูงขึ้น

“ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การให้สินเชื่อของ IFC จะช่วยให้ TIDLOR ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) มีความแข็งแกร่งด้านเงินทุนมากยิ่งขึ้น และสามารถดำเนินการตามกลยุทธ์ของเราที่มุ่งเน้นการเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลและการใช้ข้อมูลมากขึ้นในการให้สินเชื่อ” นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) กล่าว

สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (NBFI) ส่วนใหญ่ยังมีขนาดเล็ก คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 5 ของสินทรัพย์รวมของระบบการเงินของประเทศไทย สาเหตุหลักนั้นมาจากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารเหล่านั้น ไม่สามารถรับเงินฝาก ขาดแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย โดยมีเป้าหมายการให้สินเชื่อแก่แรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ไม่มีสินทรัพย์ถาวรมาค้ำประกันและถูกมองว่ามีความเสี่ยงสูง

“เพื่อให้สอดคล้องกับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของ IFC ในประเทศไทย การให้สินเชื่อของ IFC จะช่วยเพิ่มบริการทางการเงินที่เข้าถึงได้ สะดวก และเหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมการจ้างงานและการพัฒนาที่ยั่งยืน” Jane Xu ผู้จัดการ IFC ประจำประเทศไทยและเมียนมาร์กล่าว “การสนับสนุนของ IFC จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติที่มีศักยภาพ ในขณะเดียวกันก็จะส่งผลต่อการแข่งขันของคู่แข่งและเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศไทย” Xu กล่าวเสริม

IFC เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินและการให้คำปรึกษาเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในภาคเอกชนของประเทศไทย ณ เดือนมิถุนายน 2564 IFC ได้มีการลงทุนเป็นจำนวนสูงถึง 875 ล้านเหรียญสหรัฐ

อนึ่ง : บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) เป็นสมาชิกและหนึ่งในหน่วยงานภายใต้กลุ่มธนาคารโลก เป็นสถาบันระดับโลกเพื่อการพัฒนาและมุ่งเน้นการทำงานกับภาคเอกชนในตลาดเกิดใหม่ที่ใหญ่ที่สุด IFC มีการดำเนินการในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยนำเงินทุน ความเชี่ยวชาญ และมีศักยภาพในการร่วมสร้างโอกาสและสร้างตลาดให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลก

ในปี 2563 บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศได้อนุมัติความช่วยเหลือเงินทุนระยะยาวกว่า 31,500 ล้านเหรียญสหรัฐแก่บริษัทเอกชนและสถาบันการเงินในประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ โดยใช้ศักยภาพของภาคเอกชนเพื่อช่วยสร้างความเจริญและขจัดความยากจน เพื่อต่อสู้กับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 รายละเอียดเพิ่มเติม www.ifc.org 

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP