WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
ธปท. ย้ำ วัคซีนช่วยหยุดการระบาดอย่างยั่งยืน การเพิ่มเพดาหนี้สาธารณะเป็นสิ่งจำเป็น และการพักหนี้ไม่ใช่ทางออก จึงเปลี่ยนจากการพักหนี้เป็นปรับโครงสร้างหนี้เป็นหลัก

16 สิงหาคม 2564 : ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในสถาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ต่อกรณีการพักชำระหนี้ของประชาชน บริษัทฯ SME ถือว่ายังแก้ไขปัญหาไม่ตรง “อาการ” เนื่องจากมาตรการดังกล่าวจะเหมาะกับกรณีเศรษฐกิจที่มีปัญหาระยะสั้น และสถานการณ์กลับสู่ปกติเร็ว แต่กรณีนี้หากต้องพักชำระหนี้ไปเรื่อย ๆ นอกจากจะไม่ทำให้ภาระของลูกหนี้ลดลงจริง ยังทำให้ลูกหนี้มีความเครียดจากความไม่แน่นอนและสิ้นเปลืองเวลาในการติดต่อสถาบันการเงินอีกด้วย

ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด 19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง ธุรกิจและประชาชนต้องปรับตัวอย่างมาก ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดกิจการ และประชาชนถูกเลิกจ้าง ปัญหาที่ชัดเจน คือ รายได้ที่หายไป และจะหายไปเป็นเวลานาน โดยที่ผ่านมา เราเห็น 4 อาการของเศรษฐกิจไทย

อาการแรก คือ โควิด 19 สร้าง “หลุมรายได้” ขนาดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจไทย โดยในช่วงปี 2563-2564 คาดว่ารายได้จากการจ้างงานจะหายไปถึง 1.8 ล้านล้านบาท จากนายจ้างและอาชีพอิสระ 1.1 ล้านล้านบาท และลูกจ้าง 7.0 แสนล้านบาท มองไปข้างหน้า การจ้างงานคงฟื้นตัวไม่เร็วและรายได้จากการจ้างงานในปี 2565 คาดว่าจะหายไปอีกราว 8.0 แสนล้านบาท ซึ่งหมายถึงในปี 2563-2565 “หลุมรายได้” อาจมีขนาดถึง 2.6 ล้านล้านบาท

อาการที่สอง การจ้างงานถูกกระทบรุนแรง โดยเฉพาะกิจการในภาคบริการและกิจการที่มีสายป่านสั้น โดยข้อมูลการจ้างงานในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ สะท้อนความเปราะบางสูง ได้แก่ (1) ผู้ว่างงาน/เสมือนว่างงาน (ผู้มีงานทำไม่ถึง 4 ชม ต่อวัน) อยู่ที่ 3.0 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3.4 ล้านคน ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดกว่า 1 ล้านคน (2) ผู้ว่างงานระยะยาว (เกิน 1 ปี) 1.7 แสนคน เพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดถึงกว่า 3 เท่าตัว

(3) ตัวเลขผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนอยู่ที่ 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดถึง 8.5 หมื่นคน และ (4) แรงงานย้ายถิ่นกลับภูมิลำเนาที่เพิ่มขึ้นจากภาคบริการ/อุตสาหกรรมในเมือง กลับไปยังภาคเกษตรที่มีผลิตภาพต่ำกว่า ล่าสุดอยู่ที่ 1.6 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อปีในช่วงก่อนโควิดที่ 5 แสนคนมาก

อาการที่สาม การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่เท่าเทียม (K-shaped) แม้จะมีภาคการผลิตเพื่อส่งออกที่ฟื้นตัวเกินระดับก่อนโควิดแล้วถึงเกือบร้อยละ 20 จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่สถานการณ์เบากว่าไทย แต่ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกนี้ จ้างงานเพียงร้อยละ 8 ทำให้ผู้ได้ประโยชน์มีน้อย เทียบกับแรงงานในภาคบริการที่มีสูงถึงร้อยละ 52 ที่ส่วนใหญ่ยังเดือดร้อน โดยรวมจึงยังทำให้ความเป็นอยู่ของครัวเรือนยังเปราะบาง

อาการที่สี่ ไทยถูกกระทบจากโควิด 19 หนักกว่าและจะฟื้นช้ากว่าประเทศในภูมิภาค เนี่องจากไทยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดในเอเชีย คือ ร้อยละ 11.5 ของ GDP ทำให้ทั้งปี 2563 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยหดตัวถึงร้อยละ 6.1 เทียบกับร้อยละ 4.9 ที่เป็นค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชีย ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลา 3 ปี จากช่วงเริ่มระบาดในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด ขณะที่เอเชียโดยรวมใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ GDP ของไทยยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนโควิดร้อยละ 4.6 ขณะที่เอเชียโดยรวมฟื้นเหนือระดับก่อนโควิดแล้ว

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวต่อไปว่า หลังจากนี้จึงอยากเปลี่ยนเป็นการปรับโครงสร้างหนี้เป็นหลัก แนวทางในการแก้ไขหนี้ที่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน คือ 1.การปรับให้ภาระการจ่ายหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ต่ำลงมาก เพื่อให้เจ้าหนี้ยังติดต่อลูกหนี้ได้ และ 2.การผลักดันให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ครอบคลุม เพื่อดูแลลูกหนี้ที่มีจำนวนมากได้อย่างทันการณ์ ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ที่จะเป็นประโยชน์กับลูกหนี้ 

ส่วนการพิจารณาเรื่องเพดานดอกเบี้ย ต้องมองให้รอบด้าน หลักการ คือ เพดานต้องไม่สูงมาก จนทำให้ลูกหนี้มีภาระดอกเบี้ยสูงเกินไป ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ต่ำเกินไป จนเจ้าหนี้มีรายได้ไม่คุ้มต้นทุนการทำธุรกิจ (ต้นทุนเงิน ต้นทุนความเสี่ยง ต้นทุนบริหารจัดการ) จนส่งผลให้ลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงไปสู่การกู้เงินนอกระบบที่ดอกเบี้ยแพงกว่ามากในภาวะปัจจุบัน หากจะปรับเพดานดอกเบี้ยลงอีก ก็ต้องพิจารณาให้รอบด้าน

ดังนั้น ระหว่างการพิจารณาผลกระทบต่อลูกหนี้ในเรื่องการปรับเพดานดอกเบี้ย แนวทางที่น่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากกว่าภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเสี่ยงสูง คือ การขยายเพดานวงเงินให้เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อให้คนที่เสี่ยงสูงยังอยู่ในระบบต่อไป และเสริมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่มีปัญหาในการชำระหนี้เดิม

ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด 19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรงส่งผลให้รายได้ครัวเรือนหายไป และจะหายไปเป็นเวลานาน และปี 2563-2565 “หลุมรายได้” อาจมีขนาดถึง 2.6 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ไทยถูกกระทบจากโควิด 19 หนักและจะฟื้นช้ากว่าประเทศในภูมิภาค เพราะไทยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดในเอเชีย ธปท. จึงปรับประมาณการปีนี้ลงคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโต 0.7% ผลที่เปลี่ยนไปจากที่คาด คือ เศรษฐกิจไทยถูกกระทบรุนแรงขึ้น ย้ำว่าวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เป็นเครื่องมือหลักที่จะทำให้การระบาดหยุดลงยั่งยืน

ระหว่างนี้ประชาชนควรต้องได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างเพียงพอและการกระจายฉีดอย่างเหมาะสม เพื่อลดอัตราการตายและติดเชื้อ และให้กำลังการตรวจหาโรคมีเพียงพอ ซึ่งจะช่วยลดความกังวลและช่วยให้บริหารจัดการการระบาดได้ ดีขึ้น ลดโอกาส lockdown หรือจำกัดกิจกรรมเศรษฐกิจ รายได้จึงจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แม้ว่ามูลค่าการส่งออกปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ถึง 17.7% จากปีก่อนหน้า ยังไม่สามารถชดเชย“หลุมรายได้” ที่หายไปได้ เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจาก “หลุมรายได้” ที่ทั้งใหญ่และลึก รวมทั้งสถานการณ์ที่จะยาวนาน

การใช้จ่ายของภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มอีกมากและ front-load ให้ได้มากที่สุด เพื่อเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการที่ช่วยพยุงการจ้างงานและเพิ่มรายได้ รวมถึงการใช้วงเงินตาม พ.ร.ก. 5 แสนล้าน ที่อาจเร่งนำมาใช้เยียวยากลุ่มเปราะบางให้ตรงจุดและทันการณ์ และออกมาตรการเพื่อรักษาการจ้างงานและสร้างรายได้โดยเร็ว กรณีที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท หนี้สาธารณะคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 70% ของ GDP ในปี 2567 และจะลดลงได้ค่อนข้างเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว เนื่องจากฐานภาษีจะไม่ได้ลดลงจากแผลเป็นของเศรษฐกิจมากนัก

"วิกฤตครั้งนี้แตกต่างไปจากเดิม เพราะส่งผลกระทบยาวนานต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและธุรกิจทุกกลุ่ม ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ แม้การฟื้นตัวจะต้องมาสะดุดลงจากการกลายพันธุ์ของไวรัสในครั้งนี้ แต่จากบทเรียนที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นว่าการที่เราชนะการระบาดมาได้หลายระลอก ไม่ใช่เพียงเพราะนักวิจัยและบุคลากรทางการแพทย์ที่วิ่งแข่งกับพัฒนาการของไวรัส หรือภาครัฐเร่งมีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่เราทุกคนก็ลงสนามการแข่งขันครั้งนี้ด้วย ทั้งช่วยควบคุมการระบาดจากการรับวัคซีน ใส่หน้ากาก หรืองดการเดินทาง

รวมถึงการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเท่าที่จะทำได้ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ต่างทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เหมือนจิ๊กซอว์ที่ประกอบกันได้อย่างลงตัว ครั้งนี้ แม้อาจต้องออกแรงมากขึ้น รับภาระหนักขึ้น แต่ถ้าทุกฝ่ายยังเห็นอกเห็นใจ ร่วมมือร่วมใจ และทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มกำลัง จะช่วยเพิ่มจำนวนคนที่รอด ลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ และช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นฟูได้เหมือนในทุกวิกฤต"ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวสรุป

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP