กรุงเทพฯ 10 ตุลาคม 2559 : ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ประกาศความพร้อมในการสร้างและส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพไทยทั้งในกลุ่มฟินเทค (FinTech) และกลุ่มอื่นๆ ที่มีนวัตกรรมหรือแนวคิดการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ในงาน “Unlock Startup Growth by UOB” ด้วยแพลตฟอร์มหลัก 3 ด้านที่พร้อมตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจของสตาร์ทอัพทุกกลุ่มและทุกช่วงระยะที่ต่างกัน ประกอบด้วย การจัดตั้งแหล่งบ่มเพาะสตาร์ทอัพ (Training and mentorship) โอกาสในการระดมทุน (funding channels) และ ความแข็งแกร่งและศักยภาพของเครือข่ายในระดับภูมิภาค (regional partnerships)
การจัดตั้งแหล่งบ่มเพาะสตาร์ทอัพ เริ่มด้วยโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ The FinLab Accelerator Programme สตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทคที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการจะได้ไปร่วมอบรมที่สิงคโปร์เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยจะได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมด้วยความรู้ ความชำนาญประสบการณ์ เครือข่ายทางธุรกิจ
รวมทั้งผู้บริหารจากธนาคารยูโอบี ที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถปรับแผนธุรกิจและโครงสร้างรายได้ ของธุรกิจได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ การเข้าร่วมโครงการที่ประเทศสิ งคโปร์ ยังจะได้รับประโยชน์อีกมากมาย อาทิ ความสะดวกในการเริ่มต้นธุรกิจและการเข้าถึงเงินทุนของรัฐบาล
นายเจมส์ รามา ปัทมินทรวิภาส ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Channels & Digitalisation ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า สตาร์ทอัพไทยจะได้รับคำแนะนำจาก The FinLab จนสามารถพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ รวมทั้งบริการที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าและธุรกิจทั้งในประเทศและขยายไปในตลาดต่างประเทศได้ ซึ่งจะเอื้อประโยชน์อย่างมากทั้งต่อประเทศไทยและทั่วโลก
โอกาสในการระดมทุน เป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญของสตาร์ทอัพในการขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโต ยูโอบีจึงได้จับมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการระดมทุนนำเสนอสองแพลตฟอร์มคู่ขนาน ประกอบด้วย การเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพสามารถระดมทุนจากมวลชนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า crowdfunding ผ่านบริษัท OurCrowd และการให้บริการการเงินกู้ในรูปแบบ venture debt ผ่านบริษัท InnoVen Capital (InnoVen) นอกจากนี้ สตาร์ทอัพยังสามารถอาศัยศักยภาพด้านความแข็งแกร่งของยูโอบีในระดับภูมิภาคในการพัฒนาและขยายธุรกิจของตัวเองไปในระดับภูมิภาคได้อีกด้วย
InnoVen เป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่างยู โอบีและบริษัทเทมาเส็กโฮลดิงส์ ของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่จะให้บริการเงินกู้ในรูปแบบ venture debt แก่สตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชียที่ มีศักยภาพในการเติบโตในหลายภาคส่วน เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค ผลิตภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพ และเทคโนโลยีสะอาด ด้วยรูปแบบการเงินแบบนี้ จะช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถได้ทุนเพื่อขยายธุรกิจและเพิ่มมูลค่าของหุ้นบริษัทตัวเองได้ โดยไม่ต้องเสียหุ้นที่บริษัทตัวเองถือครองอยู่
นายเจมส์ กล่าวเสริมว่า วันนี้ช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนรูปแบบใหม่อย่างการระดมทุนจากมวลชน หรือ crowdfunding และ การให้บริการการเงินกู้ในรูปแบบ venture debt จะเป็นโอกาสและทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับสตาร์ทอัพที่ต้องการขยายธุรกิจได้มากขึ้น