WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
ธปท. ชี้ โควิดรอบนี้ ฉุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจติดลบ -0.8 ถึง -2% ต่อจีดีพี

22 กรกฎาคม 2564 : นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการประเมินล่าสุดต่อผลกระทบของมาตรการควบคุมการระบาดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หากมาตรการควบคุมการระบาดได้ผล และสามารถทยอยผ่อนคลายได้ภายใน ส.ค. นี้ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจประมาณ 0.8% แต่หากลดการแพร่เชื้อได้น้อย และต้องคงการควบคุมการระบาดไปจนถึงสิ้นปี จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ 2.0% ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าว ยังไม่ได้รวมปัจจัยอื่น ๆ ที่สำคัญเช่น มาตรการภาครัฐที่อาจมีเพิ่มเติม และการส่งออกที่ยังขยายตัวดี

ไวรัสสายพันธุ์ Delta กลายมาเป็นสายพันธุ์หลักในไทย ทำให้การระบาดมีแนวโน้มรุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาด และจะบริหารจัดการได้ยากขึ้น โดยมาตรการควบคุมการระบาดส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจรุนแรงเป็นวงกว้าง ซึ่งเริ่มเห็นระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวใกล้ระดับในช่วงการ Full Lockdown ปีก่อน และยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

ในระยะสั้นประสิทธิผลของมาตรการ lockdown เป็นตัวกำหนดแนวโน้มการระบาด มองไปข้างหน้าสำหรับระยะเวลาในการใช้มาตรการควบคุมการระบาดเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย หากจัดการได้ดีจะมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจปีนี้ประมาณ -0.8% ต่อจีดีพี หากจัดการไม่ได้จะมีผลกระทบประมาณ -2% ต่อจีดีพี ซึ่งยังไม่นับรวมมาตรการภาครัฐที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจและภาคการส่งออก

สถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้มีผลต่อการประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้จากมุมมองเดิมในช่วงเดือน มิ.ย.2564 ที่ผ่านมาที่มองว่าจะเติบโตที่ระดับ 1.8% อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะติดลบหรือไม่ขึ้นอยู่กับครื่องมืออื่นๆที่จะเข้ามาใช้เพิ่มเติม ซึ่งจะมีเข้ามาเหมือนกัน ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าการประเมินในเดือน มิ.ย.2564 ที่มีความยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจปีหน้าจึงช้ากว่าที่คาดมาก โดยขึ้นกับการกระจายวัคซีนเป็นสำคัญ สำหรับปัจจัยสำคัญอื่นๆต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ได้แก่ สถานการณ์และการควบคุมการระบาดในระยะยาว นโยบายการเปิดประเทศของต่างชาติ นโยบายการคลังและการกระตุ้นเศรษฐกิจ ฐานะการเงินและสภาพคล่องของธุรกิ และปัญหา supply disruption (ขาดแคลน Chip / ตู้คอนเทนเนอร์)

ประเด็นที่ต้องจับตาต่อในระยะต่อไป ในระยะสั้น ได้แก่ ความพร้อมด้านสาธารณสุขคือสิ่งสำคัญ ทั้งกำลังการตรวจและการรักษา ภาคการผลิตอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาด (Supply-side dirsruption) เพียงในระยะสั้น แต่กำลังซื้อที่อ่อนแอลงจะกระทบต่อยอดขายในระยะต่อไป ในระยะยาว ได้แก่ ควรเร่งกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง แทนมาตรการควบคุมที่เข้มงวดซึ่งอาจจำเป็นในระยะสั้นแต่ไม่ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ ต้องจำกัดให้กระทบภาคท่องเที่ยวน้อยที่สุด หากโครงการนำร่อง sandbox ถูกกระทบ จะยิ่งส่งผลต่อการฟื้นตัวในระยะยาว

ข้อเสนอแนะ สำหรับเชิงนโยบายต้องเตรียมเครื่องมือและมาตรการให้เพียงพอและยาวนาน เนื่องจากการะบาดระลอกล่าสุดมีแนวโน้มจะยาวและกระทบเป็นวงกว้างกว่าระลอกก่อนๆ และต้องทำเต็มที่ทั้งด้านนโยบายการเงินและการคลัง เนื่องจากมาตรการแต่ละด้านมีข้อจำกัด ต้องคำนึงถึงการใช้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น เตรียมช่องทางการเข้าถึงความช่วยเหลือทางออนไลน์เพิ่มขึ้น นโยบายการคลังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในยามที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจอื่นๆ อ่อนแรงลง ซึ่งการระบาดของ COVID-19 ในปี 2563 ทำให้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดับลงทุกตัว มีเพียงการใช้จ่ายของภาครัฐที่ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้หดตัวรุนแรง

ที่ผ่านมา มาตรการทางการเงินเป็นการเสริมความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องหรือบรรเทาภาระหนี้ชั่วคราวซึ่งอาจได้ผลจำกัด รวมทั้งไม่สามารถช่วยได้ครบทุกกลุ่ม โดยปัญหาสำคัญอยู่ที่การขาดรายได้ มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจยังต้องการแรงกระตุ้นอีกมาก รวมถึงการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมและขีดจำกัดของมาตรการทางการเงิน มาตรการทางการคลังจึงเป็นทางเลือกที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งของเศรษฐกิจ

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP