17 กรกฎาคม 2564 : ข่าวฮอตฮิตทิ้งทวนสัปดาห์ที่ผ่านมา (12-16ก.ค.64) คงไม่พ้นเรื่องธุรกิจประกันของตระกูลใหญ่ “ดุษฎีสุรพจน์” ที่เทลูกค้าประกันโควิด-19 แบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรมใดๆ จนขึ้นแฮชแท็ก #สินมั่นคง เป็นอันดับหนึ่งอย่างรวดเร็ว
จากกรณีที่ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK ธุรกิจในอาณาจักรตระกลู "ดุษฎีสุรพจน์" ภายใต้การบริหารงานของบอสใหญ่ "นายเรืองเดช ดุษฎีสุรพจน์" มีหนังสือถึงผู้เอาประกันภัยแจ้งการใช้สิทธิ บอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แบบ เจอ จ่าย จบ หรือ COVID 2 in 1 พร้อมคืนเบี้ยประกันแก่ผู้เอาประกัน โดยจะหักเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะที่กรมธรรม์ฉบับนี้ที่ได้ใช้บังคับมาแล้วออกตามส่วน
ถือว่าเป็นข่าวที่ทำร้ายจริตใจผู้ถือกรมธรรม์ไม่น้อย.. แถมทำลายความเชื่อมั่นต่อกลุ่มธุรกิจประกันไปด้วย เหมือนสำนวนที่ว่า "ปลาตายตัวเดียวเหม็นไปทั้งคอก" ก็ไม่ปาน ต่อไปใครหน้าไหนจะกล้าซื้อความเสี่ยงที่ธุรกิจประกันเสนอแผนมาให้ ขณะที่เหล่าเพื่อนธุรกิจก็พลอยเสียเงินเสียทองเสียแรงเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น เพื่อกระจายข่าวออกไปถึงลูกค้าในการสร้างความมั่นใจต่อตัวธุรกิจว่าจะไม่ "เท" ลูกค้า พร้อมรับผิดชอบทุกบาททุกสตางค์หากลูกค้าเข้าข่ายเงื่อนไขกรมกรรม์แบบสุจริต
พอมองดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้แล้ว ทำให้เห็นถึงธรรมาภิบาลที่ขาดหายไปของธุรกิจ ทั้งๆที่ "สินมั่นคง" เป็นหนึ่งในธุรกิจที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องธรรมาภิบาลและ ESG (งานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล)ค่อนข้างมาก เพื่อการลงทุนแบบยั่งยืนของนักลงทุน ขณะที่นักลงทุนทั้ง นักลงทุนบุคคล และนักลงทุนสถาบัน ต่างให้ความสำคัญมากขึ้นในการลงทุนแบบยั่งยืน หรือการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการดำเนินงานตามกรอบแนวคิดความยั่งยืน ESG
โดยการศึกษาจาก State Street Global Advisors ในปี 2560 ได้ทำการศึกษากับผู้ลงทุนสถาบันทั้งหมด 475 องค์กรในทวีป สหรัฐอเมริกา ยุโรป และ เอเชียแปซิฟิก ซึ่งผลของการสำรวจพบว่า พอร์ตการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ร้อยละ 80 มีการจัดสรรเงินลงทุนไปกับองค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG
แต่ "สินมั่นคง" ในวันนี้กลับละเลยธรรมาภิบาลและ ESG ไปพอสมควร ซึ่งไม่ต่างอะไรกับ "เจ้ามือหวยใต้ดิน" ที่พอเกิดความเสี่ยงว่าจะต้องเสียเงินมากมายจากนักใบ้ตัวเลขที่แม่นยำ ก็ปิดทุกช่องทางการลงทุนโดยการอั้นทุกตัวเลขที่มีความเสี่ยงนั้นๆ เพื่อที่จะเป็น "เสือนอนกิน" เพียงอย่างเดียว
สำหรับ "สินมั่นคง" ต้องอย่าลืมว่า ธุรกิจประกันไม่ใช่ "เจ้ามือหวยใต้ดิน" ที่จะมาเล่นกับความรู้สึกคนในสถานการณ์แบบนี้ การที่ประชาชนซื้อประกันโควิด-19 ตั้งแต่มีการระบาดช่วงแรกๆ จนถึงขณะนี้ เพราะเขาไว้ใจบริษัทว่าจะช่วยดูแลคนข้างหลังได้ หากเขาต้องจากโลกนี้ไปเพราะโควิด-19 และไว้ใจบริษัทว่าจะช่วยดูแลค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลหากติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งไม่ได้ซื้อประกันเพื่อหวังรวยเหมือนซื้อหวยใต้ดิน
ที่สำคัญ ธุรกิจประกันทุกแห่งที่ออกผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยงจากโควิด-19 คงจะมีการประเมินเสี่ยงจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าประชาชนทั่วไปแน่นอน เมื่อรู้ว่ามีความเสี่ยงต่อการขาดทุน ก็ไม่ควรออกกรมธรรม์ดังกล่าวเพิ่มเติมหรือเลิกขายกรมธรรม์นั้นๆ แทน ไม่ใช่มายกเลิกกรมธรรม์ที่ลูกค้าซื้อความคุ้มครองไปแล้วกลางคัน ซึ่งไม่ยุติธรรมกับลูกค้าเท่าไหร่ แต่หากจะมาอ้างว่าประเมินสถานการณ์ผิดไป ก็ไม่ควรมาลงที่ลูกค้าเช่นกัน ควรที่จะไปโทษฝ่ายประเมินความเสี่ยงกับฝ่ายคิดผลิตภัณฑ์ที่ทำให้บริษัทขาดทุน ไม่ใช่มาผลักภาระให้กับลูกค้าแบบนี้
สำหรับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK มีเจ้าของใหญ่ คือ ตระกลู"ดุษฎีสุรพจน์" นักลงทุนรู้จักกันดีเพราะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ ราคาหุ้นSMKขยับราคาสูงสุดถึง 41 บาทต่อหุ้นเมื่อวันที่ 8มี.ค.64 ที่ผ่านมา ก่อนปรับตัวลดลงมา จนวันที่ 16ก.ค.64.
หลังจาก SMK ประกาศยกเลิกสัญญากรมธรรม์ประกันโควิดทำให้ราคาหุ้น SMK ปรับปิดตลาดร่วง 2.68% หรือลดลง 1 บาท มาอยู่ที่ 36.25 บาทต่อหุ้น ระหว่างวันดิ่งกว่า 5.37% ทำจุดต่ำสุดในปี 64 และจากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้หุ้นในกลุ่มประกันภัยปรับตัวลดลงเกือบทั้งกระดานโดยลดลงประมาณ 1.19%
สำหรับผลกำไรสุทธิ SMK ช่วงย้อนหลัง 3 ปี มีขึ้นมีลงแต่กลับมาเป็นบวกมากสุดในปี 63 โดยปี 61 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 749.77 ล้านบาท ลดลง -16.87% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(YoY) ปี 62 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 677.45 ล้านบาท ลดลง -9.65% (YoY) และปี 63 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 757.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น +11.8%
ขณะที่กำไรสุทธิช่วงไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 176 ล้านบาท ลดง -7.8% (YoY) SMK ประกอบธุรกิจรับประกันวินาศภัย 4 ประเภท ได้แก่ 1. การประกันภัยทางรถยนต์ 2. การประกันอัคคีภัย 3. การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง และ 4. การประกันภัยเบ็ดเตล็ด
สำหรับผู้ถือหุ้น 10 อันดับแรกในธุรกิจสินมั่นคง ได้แก่
1. บริษัท ดุษฎีสุรพจน์ โฮลดิ้ง จำกัด จำนวน 50,037,760 คิดเป็น 25.02 %
2. MINDO ASIA INVESTMENTS LIMITED จำนวน 21,750,000 คิดเป็น 10.88 %
3.EUROCLEAR NOMINEES LIMITED จำนวน 21,749,990 คิดเป็น 10.88 %
4.นาง ศิวะพร ดุษฎีสุรพจน์ จำนวน 17,166,365 คิดเป็น 8.58%
5.นาย เรืองวิทย์ ดุษฎีสุรพจน์ จำนวน 14,976,578 คิดเป็น 7.49%
6.นาย เรืองเดช ดุษฎีสุรพจน์ จำนวน 14,885,810 คิดเป็น 7.44 %
7.นาง วิจิตรา ดุษฎีสุรพจน์ จำนวน 8,631,426 คิดเป็น 4.32 %
8.นาง อัญชุลี คุณวิบูลย์ จำนวน 8,621,810 คิดเป็น 4.31 %
9.นาง สุวิมล ชยวรประภา จำนวน 8,316,549 คิดเป็น 4.16 %
10.นาย ประดิษฐ รอดลอยทุกข์ จำนวน 4,205,410 คิดเป็น 2.10 %