รัชณภัค อินนุกูล I ภัทรียา นวลใย I นราพร สังสะนา
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย
โกโก้ : ถูกจับตาเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจใหม่ในปัจจุบันจากจุดเด่นที่สามารถปลูกได้ทั้งแบบเชิงเดี่ยว และแบบปลูกแซมเพื่อเป็นรายได้เสริมให้เกษตรกรตลอดทั้งปี อีกทั้งความต้องการโกโก้ยังมีต่อเนื่องทั้งจากในและต่างประเทศ ส่งผลให้โกโก้ไทยมีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม โกโก้ไทยยังติดข้อจำกัดในหลายจุดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ บทความนี้ จึงชวนทุกท่านมาช่วยกันหาคำตอบเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
1. ทำไมโกโก้ไทยถึงถูกจับตามอง
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าประเทศไทยมีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศเหมาะสมในการปลูกโกโก้ เนื่องจากเป็นพืชเขตร้อนจึงเจริญเติบโตได้ดีในประเทศแถบเส้นศูนย์สูตร โดยเริ่มปลูกในภาคใต้และกระจายไปยังภาคอื่นทั่วประเทศ โกโก้เป็นที่รู้จักและชื่นชอบของผู้คนทุกเพศทุกวัยมานาน และด้วยคุณประโยชน์ที่หลากหลาย ทำให้นิยมนำไปเป็นส่วนประกอบในอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
อย่างไรก็ดี คนส่วนใหญ่รู้จักโกโก้ในรูปแบบช็อกโกแลต แต่กว่าจะมาเป็นช็อกโกแลต หรือกระบวนการที่เรียกว่า “Bean to bar” นั้น มีหลายขั้นตอนและเกี่ยวพันกับผู้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่เกษตรกรจนถึงร้านคาเฟ่ ซึ่งอาศัยความเชี่ยวชาญและการมีส่วนร่วมเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามตลาดต้องการ
สถานการณ์โกโก้ไทย
- Supply Chain ของโกโก้และความได้เปรียบของไทย ประกอบด้วย
ต้นน้ำ (เกษตรกร) มีความได้เปรียบด้านพื้นที่ โดยสามารถปลูกได้ทุกภาค ซึ่งจำเป็นต้องคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และอาจต้องลงทุนระบบน้ำเพิ่มเติมในภาคเหนือและอีสาน ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ปลูกโกโก้ทั้งสิ้นราว 1,300 ครัวเรือน อย่างไรก็ตาม การเติบโตของต้นน้ำในระยะถัดไปยังเผชิญความท้าทายอยู่ไม่น้อย
กลางน้ำ-ปลายน้ำ (วิสาหกิจชุมชน/ผู้ผลิตช็อกโกแลต/โรงงานแปรรูป/ร้านคาเฟ่) บางกลุ่มมีองค์ความรู้ในการแปรรูปและสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์
- ในช่วง 3 ปีมานี้ โกโก้ได้รับกระแสความนิยมมากขึ้น ทำให้พื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อรองรับโอกาสในอนาคต ภาครัฐจึงมีแนวคิดในการส่งเสริมโกโก้ให้เป็นหนึ่งในพืชแห่งอนาคต (Future Crop)
- อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยยังผลิตโกโก้ได้น้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศและการส่งออกไปยังต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องนำเข้ามาโดยตลอด ทั้งนี้ ปี 2559 ไทยนำเข้าโกโก้ 3.9 หมื่นตัน เพิ่มขึ้นเป็น 4.2 หมื่นตันในปี 2563 และส่งออกเฉลี่ยปีละ 2.1 หมื่นตัน
ประตูแห่งโอกาสของโกโก้ไทย
โกโก้ไทยมีโอกาสเติบโตได้นับจากนี้ จากปัจจัยสนับสนุนทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศบางส่วนแล้วยังช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการส่งออก
ความต้องการบริโภคยังเติบโตได้ต่อเนื่อง จาก…
- การเติบโตของร้านคาเฟ่และขนม ทำให้ความต้องการนำโกโก้ไปเป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องดื่มและขนมเติบโตตาม
- เทรนด์พฤติกรรมรักสุขภาพ เป็นโอกาสเติบโตของผลิตภัณฑ์จากโกโก้และช็อกโกแลตออร์แกนิคหรือพรีเมี่ยม โดยโกโก้มีประโยชน์หลายด้านทั้งช่วยลดความดันโลหิตสูง เพิ่มประสิทธิภาพด้านความจำ ช่วยให้อารมณ์ดีและป้องกันรักษาโรคซึมเศร้าได้1
- การเติบโตของห้างสรรพสินค้าและ E-commerce ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์จากโกโก้และช็อกโกแลตได้ง่ายและสะดวกขึ้น
- โกโก้ไทยเริ่มเข้าสู่เวทีนานาชาติ โดยได้รับรางวัลในงาน International Chocolate Awards Asia-Pacific 2018 ทำให้เพิ่มโอกาสส่งออกไปตลาดโลกได้ในอนาคต
- ตลาดผลิตภัณฑ์โกโก้โลกยังเติบโตได้กว่า 3% ในช่วงปี 2562-2569 (CAGR)2 จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น
ปริมาณผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากทั้ง…
พื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีนี้ และพื้นที่ที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ส่วนหนึ่งจากแผนการส่งเสริมของภาคเอกชน โดยโกโก้ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากสามารถเก็บผลผลิตได้ทุก ๆ 15 วัน หรือสร้างผลตอบแทนกรณีปลูกเชิงเดี่ยวปีละกว่า 30,000 บาท/ไร่ ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจะยิ่งมีส่วนทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาในประเทศและนำเข้าลดลง ซึ่งช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้เล่นกลางน้ำ-ปลายน้ำซื้อผลผลิตโกโก้จากในประเทศแทนการนำเข้ามากขี้น
หมายเหตุ : 1 ที่มา: โกโก้กับสมอง, ศาสตราจารย์นายแพทย์นิพนธ์ พวงวรินทร์ 2 ที่มา: alliedmarketresearch, 2019
3 คำนวณภายใต้ข้อสมมติผลตอบแทนของต้นโกโก้ ณ ปีที่ 5 และ 1 ไร่ ปลูกโกโก้ 150 ต้น ทั้งนี้ รายได้อาจแตกต่างกันจาก
หลายปัจจัย เช่น ต้นทุน ราคารับซื้อ และผลผลิตต่อไร่
2. โกโก้ไทยยังติดล็อกในหลายจุด
แม้โกโก้จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีประตูโอกาสรออยู่ แต่การไปถึงจุดหมายปลายทางไม่ง่ายนัก เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยที่เป็นความท้าทาย
ความท้าทายใน Supply Chain ที่ไม่ควรมองข้าม
ต้นน้ำ : เกษตรกร
- ยังมีเกษตรกรบางส่วนขาดองค์ความรู้และทักษะในการเพาะปลูก เช่น วิธีการปลูก การดูแลหลังการปลูก และการจัดการน้ำ ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่มีคุณภาพ และมีปัญหาในการจำหน่ายผลผลิตตามมา
- มีข้อจำกัดในการเข้าถึงกล้าพันธุ์ที่ดี เนื่องจากยังมีการหลอกจำหน่ายกล้าพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพ/ไม่ตรงตามความต้องการของตลาด
- ไม่มั่นใจในระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) โดยเกรงว่าจะถูกหลอกจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เช่น ผิดสัญญารับซื้อผลผลิต
- ไม่มีพ่อค้าคนกลางรับซื้อผลผลิตในบางพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตภายหลังการเก็บเกี่ยวได้
- มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและบันทึกพื้นที่เพาะปลูกโกโก้ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้การพัฒนาระบบฐานข้อมูลของภาครัฐเพื่อนำไปใช้ประโยชน์มีข้อจำกัด เช่น การวางแผนจัดหาตลาดรับซื้อทำได้ยาก เนื่องจากไม่ทราบปริมาณผลผลิตในแต่ละพื้นที่ และช่วงเวลาที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาด
กลางน้ำ-ปลายน้ำ (วิสาหกิจชุมชน/ผู้ผลิตช็อกโกแลตโรงงานแปรรูป/ร้านคาเฟ่)
- ยังมีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงาน ทำให้ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ
- ยังต้องขยายการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการแปรรูปให้กับผู้เล่นรายเดิมที่ยังมีข้อจำกัด และผู้เล่นรายใหม่ โดยเฉพาะการเข้าใจรายละเอียดในขั้นตอนการแปรรูปและการควบคุมคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงบางกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญในการแปรรูปจากผลสดเป็นเมล็ดแห้งและผงโกโก้
- ยังต้องเพิ่มการสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ เช่น การชูจุดขายความเป็น Single Origin ที่ให้กลิ่นและรสสัมผัสที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขายผลิตภัณฑ์ได้ในราคาที่สูงขึ้น
- จำเป็นต้องพัฒนามาตรฐานสินค้า เช่น มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practices) และ HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) และควรได้รับการส่งเสริมตลาดทั้งในและต่างประเทศให้มากขึ้น เพื่อให้โกโก้ไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
3. ปลดล็อกโกโก้ไทยอย่างไร…ให้ไปต่อได้
เกษตรกร กุญแจสู่ความยั่งยืน
- ศึกษาข้อมูลโกโก้ให้รอบด้านก่อนเริ่มเพาะปลูก ตั้งแต่การเลือกพันธุ์ที่ดี การปรับปรุงดิน และการจัดการน้ำ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด
- เข้าใจ Contract Farming อย่างถ่องแท้ก่อนตัดสินใจเซ็นสัญญา ตรวจสอบการขึ้นทะเบียนบริษัทกับหน่วยงานภาครัฐ ศึกษาเงื่อนไขของสัญญาให้ละเอียดโดยเฉพาะคุณภาพผลผลิตที่รับซื้อ และความเสียหายหากมีการยกเลิกสัญญา
- รวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกและแปรรูปโกโก้ เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ ช่วยลดต้นทุนจากการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) ทั้งยังต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร
Case Study :
- คุณนัน ชูเอียด ปราชญ์ชาวบ้าน จ.พัทลุง ปลูกโกโก้แซมในสวนผสม เน้นการสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจก่อนลงมือปลูกโกโก้
- คุณเจริญพร เสาโกมุท เจ้าของไร่คิม สวนวายุ จ.ชัยภูมิ ปลูกโกโก้เชิงเดี่ยว เน้นการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย
เอกชน พลังสำคัญในการขับเคลื่อน
- เป็นตัวกลางแบ่งปันความรู้สู่เกษตรกร โดยเฉพาะเรื่องการแปรรูปเบื้องต้นเพื่อให้ได้เมล็ดโกโก้ที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพของเกษตรกร ขณะเดียวกันเอกชนได้ประโยชน์จากต้นทุนที่ลดลงจากการลดขั้นตอนการแปรรูป
- ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งด้านฐานข้อมูล การวิจัยกล้าพันธุ์ และเทคโนโลยี เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้
- เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ผ่านการสร้างเอกลักษณ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้ตรงกับความต้องการผู้บริโภคมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ในเชิงการแพทย์หรือเครื่องสำอาง
- ขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ยกระดับคุณภาพสินค้าสู่มาตรฐานสากลเพื่อขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น
Case Study :
- One more Thai craft chocolates สร้างเอกลักษณ์โดยใช้โกโก้ที่ปลูกในสวนผสมในท้องถิ่น ทั้งยังเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้และท่องเที่ยวชุมชน
- บริษัท โกโก้ไทย 2017 จำกัด มีเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่ที่ทันสมัย ช่วยให้ประเมินผลผลิตได้อย่างแม่นยำ
- บริษัท มาร์คริณ ช็อกโกแลต จำกัด พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์และขยายฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ
ภาครัฐ ปูทางสู่ความสำเร็จ
- ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโกโก้ที่ถูกต้องให้แก่เกษตรกร ตั้งแต่การเพาะปลูก การแปรรูป และการตลาด เพื่อให้ทราบข้อมูลก่อนการตัดสินใจ
- มีแผนส่งเสริมโกโก้ที่เป็นรูปธรรม โดยต้องดำเนินการตามแผนอย่างจริงจัง รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้อง
- พัฒนาระบบฐานข้อมูลให้ครบวงจร ตั้งแต่ทะเบียนสายพันธุ์ เนื้อที่ จำนวนเกษตรกร บริษัทที่รับซื้อ/โรงงาน ตลอดจนการนำเข้าและส่งออก เพื่อเป็นข้อมูลให้เกษตรกรและเอกชนใช้วางแผนและตัดสินใจด้านการผลิต การตลาด และการลงทุน
- รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์และส่งเสริมตลาดทั้งในและต่างประเทศ สร้างแรงจูงใจให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการจัดโรดโชว์ในต่างประเทศ เพื่อให้โกโก้ไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากลมากขึ้น
Case Study :
- มาเลเซีย ตั้งวิสัยทัศน์ว่าจะเป็น “King of Chocolate in Asia” บรรจุใน “National Commodity Policy 2554-2563” จนเปลี่ยนตำแหน่งจากผู้ผลิตเมล็ดโกโก้มาเป็นโรงงานแปรรูปช็อกโกแลต
- อินโดนีเซีย จัดเก็บภาษีส่งออกเมล็ดโกโก้ 0-15% ของมูลค่าการส่งออก เพื่อให้ผู้ประกอบการหันไปเน้นการส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปมากขึ้น
ร่วมมือร่วมใจเร่งปลดล็อกข้