6 กรกฎาคม 2564 : วิจัยกรุงศรี รายงานว่า การส่งออกที่เติบโตดีในเดือนพฤษภาคมช่วยหนุนการผลิตภาคอุตสาหกรรม แต่การใช้จ่ายในประเทศทรุดลงต่อเนื่องจากการระบาดระลอกที่สามของ COVID-19 โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือนพฤษภาคมหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 (-3.1% MoM sa) ตามการลดลงในทุกหมวดการใช้จ่าย ผลกระทบจากการระบาดรอบสามของ COVID-19 มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด จำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นทรุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แม้มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อภาคครัวเรือนได้บางส่วน เช่นเดียวกับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงจากเดือนก่อน (-2.3%) ตามอุปสงค์ในประเทศและความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ทรุดลง ทำให้การลงทุนลดลงทั้งในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้าง
ขณะที่ภาคท่องเที่ยวยังมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียงเล็กน้อย (6,052 คน) จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ และการท่องเที่ยวในประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกสาม อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกที่เติบโตดีต่อเนื่อง (44.4%YoY) อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ทำให้การส่งออกปรับดีขึ้นและกระจายตัวทั้งในตลาดและหมวดสินค้า และช่วยหนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัวจากเดือนก่อนในช่วงที่อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ทำให้ทางการต้องยกระดับมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล กับอีก 4 จังหวัดภาคใต้ รวมถึงจำกัดกิจกรรมในพื้นที่ดังกล่าวที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาด อาทิ การก่อสร้าง การนั่งรับประทานในร้านอาหาร เป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน
ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้อนุมัติมาตรการวงเงิน 8,500 ล้านบาท เพื่อเยียวยาแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมที่เข้มงวดดังกล่าว เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจึงมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความเสี่ยงขาลงและยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด การจัดหาและการกระจายวัคซีน ซึ่งล่าสุดวิจัยกรุงศรีได้ทบทวนประมาณการจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ของไทยอีกครั้งโดยใช้ข้อมูลถึงวันที่ 28 มิถุนายน การคาดการณ์อยู่บนพื้นฐานของแบบจำลอง SIR ใช้ข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันผนวกเข้ากับ mobility index ผลการประมาณค่าด้วยสมมติฐานแบ่งออกเป็น 3 กรณี ดังนี้
1) Best case (เส้นสีเหลือง): การติดเชื้อในอนาคตจะมีรูปแบบคล้ายคลึงกับรูปแบบการติดเชื้อจากจำนวนตัวอย่างทั้งหมดในอดีต (บนสมมติฐานว่าลักษณะการแพร่เชื้อและการควบคุมจะเหมือนกับช่วงตั้งแต่ต้นปี 2563) ผลการศึกษาพบว่าจะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันต่ำกว่า 100 รายจะเป็นประมาณต้นเดือนตุลาคม
2) Base case (เส้นสีส้ม): การติดเชื้อในระยะข้างหน้าจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับรูปแบบการติดเชื้อในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (หรือการแพร่ระบาดจะมีผลจากสายพันธุ์ใหม่และลักษณะการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น) ผลการศึกษาพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะยังเพิ่มขึ้นได้อีก และ peak ของการติดเชื้อจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม โดยการติดเชื้อจะลดลงตามการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น (คาดอัตราการฉีดเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5-2.7 แสนโดสต่อวัน) ควบคู่ไปกับการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ จะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันต่ำกว่า 100 เมื่อพ้นกลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป
3) Prolonged case (เส้นสีแดง): รูปแบบการติดเชื้อในอนาคตคล้ายกับประเทศบราซิลและอิตาลี ซึ่งมีลักษณะเหมือนภูเขาหลายลูกซ้อนกัน จากการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเร็วกว่าผลของภูมิคุ้มกันหมู่ที่จะเกิดขึ้นในวงกว้างจากการฉีดวัคซีน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันกลับมาเพิ่มขึ้น ในกรณีนี้ ผลการศึกษาพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและจะยังคงอยู่ในระดับสูงแม้พ้นสิ้นเดือนตุลาคมไปแล้ว
สำหรับภาวะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่ผลกระทบจากไวรัสกลายพันธุ์อาจมีไม่มาก ในเดือนมิถุนายนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ด้านการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นประมาณ 8.5 แสนตำแหน่งสูงกว่าตลาดคาด ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับ 5.9% สูงกว่าเดือนก่อนเล็กน้อย ล่าสุดจำนวนผู้ยื่นขอรับสิทธิสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 มิถุนายนปรับตัวลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดเมื่อเดือนมีนาคม 2563
เศรษฐกิจสหรัฐฯยังฟื้นตัวต่อเนื่องและมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ ล่าสุด IMF ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯเป็น 7.0% (จากเดิม 4.6%) สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2527 ขณะที่ธนาคารหลายแห่งได้ประกาศจ่ายเงินปันผลรวมถึงการซื้อหุ้นคืนหลังจากผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ของเฟดซึ่งยืนยันถึงสถานะเงินกองทุนขั้นต่ำที่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม วิจัยกรุงศรีคาดว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำต่อไปอย่างน้อยจนถึงปี 2566 โดยอัตราการว่างงานยังห่างจากเป้าหมายระยะยาวของเฟด ทั้งนี้อัตราการว่างงานในช่วงก่อนการแพร่ระบาดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 อยู่ที่ 3.5% ส่วนสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตายังคงจำกัดอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ เช่น รัฐมิสซูรี อาร์คันซอ เนวาดา และยูทาห์
สำหรับความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโดยภาพรวมนั้นมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 328.8 ล้านโดส โดยมีผู้ได้รับวัคซีนครบถ้วนคิดเป็น 47.1% ของประชากร การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่จึงอาจสร้างความไม่แน่นอนเพียงในบางพื้นที่ แต่เศรษฐกิจส่วนรวมยังสามารถเติบโตต่อไป
ยูโรโซนยังมีสัญญาณบวก ขณะที่ความไม่แน่นอนจากไวรัสกลายพันธุ์อาจกระทบบางประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยว อัตราการว่างงานเดือนพฤษภาคมของยูโรโซนลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่ 7.9% ในเดือนมิถุนายนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงสู่ระดับ 1.9% จากที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีครึ่งเมื่อเดือนก่อน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจแตะระดับสูงสุดในรอบ 21 ปี
เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ระบุว่าการฟื้นตัวยังคงดำเนินต่อไปและมีปัจจัยหนุนจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน รวมทั้งยังส่งสัญญาณที่ธนาคารในยุโรปอาจสามารถจ่ายเงินปันผลและการซื้อคืนหุ้นได้ช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ นอกจากนี้สหภาพยุโรปได้เริ่มใช้หนังสือเดินทางดิจิทัลที่รับรองการฉีดวัคซีนต้านโรค COVID-19 ซึ่งจะเอื้อต่อการเดินทางข้ามพรมแดนโดยไม่ต้องกักตัวและเป็นประโยชน์ต่อภาคการท่องเที่ยว ล่าสุดการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตาในอังกฤษนั้นได้กระจายไปยังบางประเทศ เช่น โปรตุเกส ฝรั่งเศส และเยอรมนี และอาจมีผลต่อการฟื้นตัวเฉพาะในบางประเทศที่ต้องพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก
ภาคการผลิตของจีนชะลอลงในเดือนมิถุนายน แต่ปัญหาการชะงักงันด้านอุปทานส่งสัญญาณคลี่คลายลงบ้าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและบริการเดือนมิถุนายนของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนที่ 52.9 โดยดัชนีฯนอกภาคการผลิตลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือนที่ 53.5 ส่วนดัชนีฯภาคการผลิตปรับตัวลงสู่ระดับ 50.9 ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมฯปรับตัวลงแต่ค่าดัชนีบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 หากพิจารณาองค์ประกอบย่อยของดัชนีฯภาคการผลิตพบว่าด้านผลผลิตและคำสั่งซื้อยังคงขยายตัว โดยเฉพาะดัชนีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนส่งสัญญาณการเติบโตต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ ขณะที่ดัชนีด้านระยะเวลาในการจัดส่งสินค้าสั้นลงสะท้อนว่าปัญหาคอขวดเริ่มคลี่คลาย
ส่วนดัชนีย่อยด้านราคาปัจจัยการผลิตปรับตัวลดลง เป็นผลจากมาตรการภาครัฐช่วยลดผลกระทบจากปัญหาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น โดยภาพรวมเศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องแม้อาจเติบโตช้าลงเมื่อเทียบจากต้นปี