21 มิถุนายน 2564 : ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ได้เปิดทำการสำนักงานผู้แทน EXIM BANK แห่งที่ 4 ในนครโฮจิมินห์ เวียดนาม ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 มีนายจักรกริช ปิยะศิริกุล เป็นหัวหน้าสำนักงานผู้แทนฯ ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนภายใต้ทีมประเทศไทย ขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทยกับประเทศต่าง ๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและอาเซียน
โดยมีเป้าหมายขยายสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการไทยใน CLMV เพิ่มขึ้น คิดเป็นยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อ 50,000 ล้านบาทภายในปี 2568 เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด 45% จากยอดคงค้างจำนวน 34,500 ล้านบาทในปี 2563 ทั้งนี้ EXIM BANK เปิดดำเนินการสำนักงานผู้แทนแห่งแรกในย่างกุ้ง เมียนมาเมื่อปี 2560 จากนั้นจึงเปิดสำนักงานผู้แทนในเวียงจันทน์ สปป.ลาว และพนมเปญ กัมพูชาในปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ ส่วนสำนักงานผู้แทนในนครโฮจิมินห์จะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า EXIM BANK จัดตั้งสำนักงานผู้แทนใน CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ครบถ้วนทั้ง 4 แห่ง เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงการคลัง เพื่อส่งเสริมให้ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยสามารถแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจในตลาดต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจอยู่มาก อีกทั้งผู้ประกอบการไทยยังมีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมและพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความใกล้เคียงกัน
นอกจากนี้ การเปิดสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในนครโฮจิมินห์ยังสอดคล้องกับนโยบาย Dual-track Policy ของ EXIM BANK ในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยภายใต้บทบาท “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (Thailand Development Bank)” ควบคู่กับการทำหน้าที่ “ศูนย์บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs (One Stop Trading Facilitator for SMEs)” ในตลาดเวียดนาม
เวียดนาม เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงทั้งด้านการค้าและการลงทุนด้วยจำนวนประชากรเกือบ 100 ล้านคน ทำให้มีแรงงานเพียงพอรองรับการเติบโตของภาคธุรกิจ สามารถผลิตสินค้าในต้นทุนที่ต่ำกว่าหลายประเทศ ประชากรและนักลงทุนต่างชาติในเวียดนามมีความต้องการใช้สินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคและป้อนภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลเวียดนามส่งเสริมการค้าเสรีและการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามยังขยายตัวดี แม้ในปีที่ผ่านมาได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เวียดนามก็ยังสามารถรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้เกือบ 3% สวนทางกับประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่เศรษฐกิจเผชิญภาวะหดตัว ในปี 2564
ทั้งนี้ เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตถึง 6.5% ผู้ประกอบการไทยจึงมีโอกาสอีกมากที่จะขยายธุรกิจการค้าและการลงทุนเข้าไปยังตลาดเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 4 ของไทย เป็นรองจากตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปเวียดนาม ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และน้ำมันสำเร็จรูป ขณะที่การลงทุนของไทยในเวียดนามกระจายอยู่ในหลากหลายธุรกิจ อาทิ นิคมอุตสาหกรรม พลังงาน อาหารแปรรูป ปิโตรเคมี และบรรจุภัณฑ์ โดยไทยเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 7 ในเวียดนาม
ดร.รักษ์ กล่าวว่า ในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนไทย-เวียดนามให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง EXIM BANK พร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยส่งออกสินค้าโดยเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่ากับผู้ประกอบการเวียดนาม อาทิ การส่งออกสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และวัสดุก่อสร้างป้อนภาคการผลิตของเวียดนาม รวมถึงการเข้าไปลงทุนของคนไทยในธุรกิจสนับสนุน อาทิ บรรจุภัณฑ์ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมอื่นของเวียดนาม การแปรรูปอาหารและสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพ สอดคล้องกับการสนับสนุนของรัฐบาลเวียดนามเพื่อเพิ่มมูลค่าและยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร รวมถึงการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่ทั่วโลกให้ความใส่ใจ ไปจนถึงธุรกิจในโลกยุค New Normal เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจคลังสินค้าออนไลน์ (Fulfillment) และธุรกิจดิจิทัล
“EXIM BANK พร้อมส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนของไทยในตลาดหลักและตลาดใหม่ การเปิดสำนักงานผู้แทนของ EXIM BANK ในนครโฮจิมินห์เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมทีม EXIM BANK และทีมประเทศไทย เพื่อร่วมกันอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ นำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ท่ามกลางความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาของโลกยุคใหม่” ดร.รักษ์ กล่าว