WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

14 มิถุนายน 2564 : Wealth Advisory ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย วิเคราะห์ถึงทิศทางการลงทุนระหว่างวันที่ 14-18 มิ.ย. 64 ดังต่อไปนี้

ตลาดหุ้นไทย

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยปิดที่ระดับ 1,636.56 จุด เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มเปิดเมือง เช่น ขนส่ง โรงแรม ท่องเที่ยว และร้านอาหาร หลังจากที่ความคืบหน้าของวัคซีนมีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลก็มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากจำนวนคนไข้ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะคนไข้ชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาตัวในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดโรคโควิด-19 ในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 2,000 รายต่อวัน ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นไทยและต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

รวมถึงการที่ธนาคารโลกได้ออกมาปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของดัชนี GDP ในปีนี้ของไทยลงเหลือ 2.2% จากเดิมที่ระดับ 4.0% อาจสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นได้ ดังนั้นแม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแต่ยังคงมีมุมมองในเชิงลบ รวมถึงยังไม่มีปัจจัยสนับสนุนใหม่ ๆ ที่ชัดเจนเข้ามา ส่งผลให้นักลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นอาจชะลอการลงทุนในช่วงนี้ออกไปก่อนและในขณะเดียวกันยังต้องติดตามสถานการณ์ของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้สำหรับนักลงทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอยู่อาจอาศัยจังหวะการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาเพื่อทยอยขายทำกำไรออกไปก่อน หลังจากที่ตลาดมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

ตลาดหุ้นต่างประเทศ

ดัชนีหุ้น S&P500 ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้งหลังจากแรงกดดันการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อลดลงสะท้อนจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10ปี ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้หุ้นกลุ่มเติบโตมีแรงซื้อกลับเข้ามาอีกครั้ง โดยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อออกมาที่ระดับ 0.7% MoM สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดเล็กน้อย ในขณะที่ทางฝั่งยุโรปทาง ECB ที่ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2021 เพิ่มขึ้นจาก 1.4% เป็น 1.9% และคาดว่า GDP จะโตที่ 4.6% บ่งชี้ถึงเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนทางฝั่งเอเชียนั้นตลาดเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ

โดยรวมแล้วนักลงทุนยังคงเฝ้าจับตามองการประชุม FED ในสัปดาห์นี้ถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายทางการเงิน แนะนำกระจายการลงทุนในหุ้นกลุ่มวัฏจักรขนาดใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและหุ้นในฝั่งยุโรปเนื่องจากมูลค่าพื้นฐานยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ

ตลาดตราสารหนี้

ผลตอนแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุคงเหลือ 10 ปี ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการปรับตัวลงสู่ระดับ 1.453 % ท่ามกลางการเผยตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน พ.ค. ที่พุ่งสูงแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 ปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงความกังวลที่น้อยลงของนักลงทุนที่มีต่อตัวเลขเงินเฟ้อ โดยมองว่าจะเป็นเพียงการพุ่งสูงขึ้นอย่างชั่วคราวเพียงเท่านั้น อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาดูผลการประชุมของทางคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้ ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรมีความผันผวนสูงขึ้นได้ หากมีการเปลี่ยนแปลงของนโยบายทางการเงินขึ้น

สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำยังคงแนะนำรักษาสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้เพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนและสร้างผลตอบแทนที่มั่นคง โดยแนะนำลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับ Investment Grade เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำ

ตลาดสินทรัพย์ทางเลือก

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ส.ค. ปิดที่ 1,879.6 ดอลลาร์ สรอ./ออนซ์ ปรับตัวลดลง 0.59% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาทองคำเคลื่อนไหวในกรอบแคบตลอดทั้งสัปดาห์ โดยระหว่างสัปดาห์ขึ้นไปทำจุดสูงสุดเหนือระดับ 1,900 ดอลลาร์ สรอ./ออนซ์ อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ช่วงท้ายสัปดาห์ ราคาทองคำปรับตัวลดลงจากแรงเทขายทำกำไรหลังจากปรับตัวบวกมาอย่างต่อเนื่องหลายสัปดาห์ติดต่อกัน ถึงแม้ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาจะยังอยู่ในระดับสูงก็ตาม แต่นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลและมองว่าน่าจะเป็นแค่ภาวะชั่วคราว

สำหรับนักลงทุนระยะยาว แนะนำให้คงสัดส่วนการลงทุน 3-5% ของพอร์ตการลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตการลงทุน สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ค. ปิดที่ 70.91 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.85% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ IEA คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะกลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดได้ภายในสิ้นปีหน้า โดยคาดว่าอุปสงค์จะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 100.6 ล้านบาร์เรล/วัน

นอกจากนี้ทาง Goldman Sachs ได้เปิดเผยว่า อัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเปิดได้อีกครั้ง สะท้อนจากความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นแตะระดับ 96.5 ล้านบาร์เรล/วัน และคาดว่า จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 99 ล้านบาร์เรล/วันในเดือน ส.ค. นี้ แนะนำให้คงสัดส่วนการลงทุน โดยมีเป้าหมายราคาที่ระดับ 74 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล

สัปดาห์ที่ผ่านมา Bond Yield ทั่วโลกปรับตัวลดลงสอดคล้องกัน แม้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมายังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ก็ตาม บ่งบอกว่านักลงทุนไม่ได้กังวงเรื่องเงินเฟ้อเท่าช่วงก่อนและมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นน่าจะเป็นภาวะชั่วคราวจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กลับมาเปิดอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามผลการประชุมของ FOMC ในสัปดาห์นี้ ด้าน REIT Yield ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงทั่วโลกจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคา โดยเฉพาะ TH ปรับตัวลดลง 14 bps (SETPREIT +2.91%) จากการแจกจ่ายวัคซีนในสัปดาห์แรกมีทิศทางออกมาดี อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจาก Yield Spread พบว่า REIT ทั่วโลกค่อนข้างมีมูลค่าที่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี แนะนำคงสัดส่วนการลงทุน

Asset Allocation
การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนและกองทุนที่แนะนำในสัปดาห์นี้

ตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์ที่แล้วแกว่งตัวในกรอบและปิดสัปดาห์ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยนักลงทุนยังคงรอคอยผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงต่ำที่สุดในรอบ 3 เดือน มาอยู่ที่ ร้อยละ 1.453 และเป็นการปรับตัวลดลงในรอบสัปดาห์ที่มากที่สุดในรอบปี สวนทางกับตัวเลขเงินเฟ้อเดือน พ.ค. ที่ออกมาที่ร้อยละ 5.0 (YoY) โดยการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อยังเป็นผลมาจากปัจจัยฐาน (Base Effect) และผลจากการเปิดเมือง แต่คาดว่าจะค่อยๆ ปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี

ในขณะที่หุ้นยุโรป ดัชนี STOXX 600 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่สี่ติดต่อกัน และทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากมุมมองเชิงบวกที่ดีขึ้นต่อเศรษฐกิจ โดยผลการประชุมธนาคารกลายุโรป (ECB) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ย รีไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 0.00 รวมถึงคงดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ร้อยละ -0.50 และคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับร้อยละ 0.25 และมีมติคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรในโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) ที่วงเงิน 1.85 ล้านล้านยูโร ไปจนถึงเดือนมี.ค.2565 หรือจนกว่าการระบาดของโรคโควิด-19 จะสิ้นสุดลง และคงการซื้อสินทรัพย์ในโครงการ Asset Purchase Programme (APP) ในวงเงิน 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน แต่ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2564 จากเดิมร้อยละ 4.0 เป็น 4.6

ในขณะที่การประชุมสุดยอดผู้นำในกลุ่ม G-7 ที่ประเทศอังกฤษที่จบลงไปแล้ว โดยมีแผนเพิ่มเติมที่จะแจกจ่ายวัคซีนจำนวนกว่า 1 พันล้านโดสให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำภายในปี 2022 นอกจากนี้ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 5.6 เพิ่มขึ้นจากการนำของสหรัฐฯ และจีนเป็นหลัก โดยแม้โดยรวมจะยังต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาด แต่ก็สะท้อนมุมมองเชิงบวกที่ดีขึ้น สอดคล้องกับการประมาณการอื่นๆ เช่น IMF และ OECD

ในขณะที่ความเสี่ยงที่ต้องจับตามดูในปัจจุบัน ได้แก่ แนวโน้มการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในสหราชอาณาจักร จีน และบางประเทศในเอเชียต่อคาดว่าผลการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ น่าจะมีส่วนช่วยลดความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินลง และยังคงแนะนำกระจายการลงทุนในสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย โดยเฉพาะในกลุ่มที่สอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

โดยเรายังคงแนะนำสะสมกองทุน KT-EURO ที่กองทุน Master Fund เน้นการลงทุนในหุ้นขนาดเล็กของยุโรปในลักษณะ Bottom-up รวมถึงการถือสัดส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมและการเงินที่สูงกว่าดัชนีชี้วัด (Benchmark) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะขยายตัวได้ดีสอดคล้องกับวัฏจักรเศรษฐกิจในภาวะปัจจุบัน นอกจากนี้ยังแนะนำกองทุนที่ลงทุนในจีนได้แก่ กองทุน MCHINAGD และ กองทุน KFACHINA-A ในขณะที่กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นทั่วโลก และเน้นน้ำหนักในสหรัฐฯ อย่างกองทุน Principal GOPP-A และกองทุน ONE-UGG-RA ก็ยังคงมีความน่าสนใจสำหรับการลงทุนในระยะยาว

สัปดาห์นี้ติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (15-16 มิ.ย.) รวมถึงการคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ที่จะมีส่วนสำคัญต่อภาวะตลาดการเงิน เสริมด้วยการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (17-18 มิ.ย.) ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญได้แก่ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) ของยุโรปและจีน ดัชนียอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ และจีน นอกจากนี้ยังต้องติดตามการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ในสหราชอาณาจักร จีน รวมถึงกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทยและเวียดนาม 

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP