11 มิถุนายน 2564 : นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรได้ร่วมมือกันสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีน COVID-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด กรุงเทพมหานคร จึงได้กำหนดให้มีหน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีน COVID-19 นอกโรงพยาบาล จำนวน 25 แห่ง เพื่อรองรับการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง และเพื่อเป็นการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำดูแลประชาชนที่รอรับการฉีดวัคซีนรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และจิตอาสาที่ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยบริการฉีดวัคซีน
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จึงได้ร่วมสนับสนุนน้ำดื่มธนาคารรวม 30,000 ขวด และหน้ากากอนามัยพร้อมสายคล้อง ให้กับ 2 หน่วยงานที่เป็นจุดให้บริการฉีดวัคซีนทั้งในและนอกโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วย
1. สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้รับมอบน้ำดื่มธนาคารจำนวน 20,000 ขวด พร้อมหน้ากากอนามัยและ
สายคล้องที่จัดทำโดยพนักงานจิตอาสาของธนาคาร เพื่อมอบให้กับประชาชนที่เข้ารับบริการฉีดวัคซีน และผู้ปฏิบัติงานของโรงพยาบาล โดยมี นายนพดล ศรีหทัย บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวไทยพีบีเอส (Thai PBS) ให้เกียรติเป็นผู้รับมอบ ซึ่งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เป็น 1 ใน 25 หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร-หอการค้าไทย สามารถให้บริการฉีดวัคซีนได้ประมาณ 1,000 - 2,000 คน/วัน
2. คลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา ได้รับมอบน้ำดื่มธนาคารจำนวน 10,000 ขวด พร้อมหน้ากากอนามัยและสายคล้องที่จัดทำขึ้นโดยพนักงานจิตอาสาของธนาคารโดยมี นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ กรรมการผู้อำนวยการคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา ให้เกียรติเป็นผู้รับมอบ ซึ่งคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนาเป็นจุดบริการฉีดวัคซีน COVID-19 ซึ่งเป็นช่องทางที่รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ให้บริการประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม
สำหรับกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนช่วยเหลือสังคมไทยสู้ภัย COVID-19 ที่ ธอส.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง มูลค่ารวมกว่า 5,000,000 บาท ได้แก่ การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 2,000,000 บาท ให้แก่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ สำหรับจัดสร้างหอผู้ป่วยไอซียูความดันลบแบบห้องแยกที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยวิกฤตที่มีอาการรุนแรง และน้ำดื่มธนาคารจำนวน 20,000 ขวด การสนับสนุนงบประมาณ 1,000,000 บาท ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ กทม. กับกิจกรรม “เรามีเรา” และหน้ากากอนามัยพร้อมสายคล้องจำนวน 10,420 ชุด
การสนับสนุนงบประมาณ 700,000 บาท ให้แก่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล สำหรับจัดสร้างหอผู้ป่วย ICU ความดันลบแบบห้องแยก พร้อมมอบน้ำดื่มธนาคารจำนวน 10,000 ขวด รวมถึงหน้ากากอนามัยพร้อมสายคล้องการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 300,000 บาท ให้แก่โรงพยาบาลราชวิถี จัดสร้างไอซียูสนามที่ใช้รองรับการรักษาผู้ป่วยวิกฤตที่มีอาการรุนแรง และมอบหน้ากากอนามัยพร้อมสายคล้อง รวมถึงน้ำดื่มของธนาคารจำนวน 5,000 ขวด
การสนับสนุนงบประมาณ 200,000 บาท ให้แก่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สำหรับจัดซื้อเครื่องฮีโมเปอร์ฟิวชั่นใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19และมอบน้ำดื่มธนาคารจำนวน 5,000 ขวด รวมถึงหน้ากากอนามัยพร้อมสายคล้อง การสนับสนุนงบประมาณ 135,000 บาท ให้แก่โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ เพื่อจัดหาเก้าอี้นั่งจุดพักคอย พร้อมเสื้อทีมของโรงพยาบาล น้ำดื่มธนาคารจำนวน 20,000 ขวด
รวมถึงหน้ากากอนามัยและสายคล้อง การส่งมอบน้ำดื่มธนาคาร จำนวน 50,000 ขวด และหน้ากากอนามัยพร้อมสายคล้อง ให้แก่หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีน COVID-19 กรุงเทพมหานคร - หอการค้าไทย ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย การส่งมอบน้ำดื่มธนาคารจำนวน 15,600 ขวด และหน้ากากอนามัยพร้อมสายคล้อง พร้อมด้วยอาหารจำนวน 500 กล่อง ให้แก่สถาบันบำราศนราดูร การส่งมอบน้ำดื่มให้แก่จำนวน 7,200 ขวด อบต.หัวถนน อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์
การส่งมอบถุงยังชีพ ธอส. ให้แก่เขตห้วยขวาง เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น ชุมชนวัดอุทัยธาราม ซึ่งเป็นชุมชนใกล้ธนาคาร รวมถึงสนับสนุนน้ำดื่มและอาหารกลางวัน ให้หน่วยงานสำคัญต่าง ๆ อาทิ สถานพยาบาล สถานศึกษา และวัด เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ CSR ของธนาคาร ด้วยความห่วงใยและตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน อีกทั้งเป็นการสร้างจิตสำนึกในการเป็นจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือสังคมให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ น้ำดื่มธนาคารทุกขวดที่นำไปมอบให้แก่โรงพยาบาล หรือหน่วยงานต่าง ๆ ได้รับการผลิตด้วยมาตรฐานคุณภาพ และมีความสะอาด โดยศูนย์ส่งเสริมอาชีพคนพิการ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นศูนย์ที่ส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพและทักษะทางสังคมให้แก่ผู้พิการเพื่อให้มีความสามารถเพิ่มเติมและมีรายได้เลี้ยงดูแตนเองและครอบครัวต่อไป ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ให้ยังสามารถมีรายได้ในระยะนี้ต่อไป