1 มิถุนายน 564 : นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2563 ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ซึ่งทำให้รายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลงอย่างมาก
นอกจากนี้ ธปท. ได้จัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลออนไลน์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนค่อนข้างดี จึงได้ขยายขอบเขตของงานมหกรรมให้ครอบคลุมลูกหนี้ที่ถูกโอนขายไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์
หนี้ที่สำคัญของประชาชนรายย่อยอีกประเภทหนึ่ง คือ หนี้เช่าซื้อรถยนต์ ทั้งในส่วนที่นำมาใช้ประกอบอาชีพหรือใช้ในการเดินทางของคนในครอบครัว ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้สามารถประกอบอาชีพ หรือใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ธปท. กรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และผู้ให้บริการทางการเงิน 12 แห่ง (ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์รวมกันแล้วมากกว่าร้อยละ 65) จึงร่วมกันจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ออนไลน์ขึ้น ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน ถึง 31 กรกฎาคม 2564 เพื่อเป็นช่องทางที่จะช่วยลดภาระของลูกหนี้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ ในการชำระหนี้ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
"ซึ่งขณะนี้ ธปท.มีลูกหนี้เข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้สำเร็จไปแล้วจำนวน 1.5 แสนบัญชี คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 3.8 แสนบาท/บัญชี ส่วนมูลค่าของสินเชื่อส่วนบุคคลประมาณ 58,000 บาท/บัญชี คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อรวมประมาณ 8,600 ล้านบาท จากจำนวนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทั้งหมด 6.6 ล้านบัญชี มีจำนวนบัญชีน้อยกว่าสินเชื่อบัตรส่วนบุคคลที่มีสูงถึง 50 ล้านบัญชี แต่วงเงินสินเชื่อรถยนต์สูงกว่ามาก อีกทั้งยังมีจำนวนผู้ที่อยู่ระหว่างกระบวนการเข้าไกล่เกลี่ยหนี้อีกจำนวนมาก" นางธัญญนิตย์ กล่าว
ความพิเศษของมหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ครั้งนี้ คือ จะครอบคลุมลูกหนี้เช่าซื้อบุคคลธรรมดาทุกกลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) หรือกลุ่มที่เป็น NPL แต่รถยังไม่ถูกยึด (2) กลุ่มลูกหนี้ที่รถถูกยึดแล้วแต่ยังไม่ถูกขายทอดตลาด และ (3) กลุ่มลูกหนี้ที่รถถูกขายทอดตลาดแล้ว แต่ยังมีหนี้เช่าซื้อส่วนขาด โดยมีเป้าหมายให้ลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์ที่รายได้ลดลงในช่วงโควิด 19 สามารถเจรจาผ่อนชำระหนี้ได้ตามความสามารถ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถนำรถที่ถูกยึดกลับไปใช้ในการประกอบอาชีพและนำรถไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เช่นเดิม ซึ่งเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในสถานการณ์ช่วงนี้อีกทางหนึ่ง โดยความช่วยเหลือจะแตกต่างกันตามความเหมาะสมและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ กล่าวคือ
กลุ่มแรก ลูกหนี้ที่ยังไม่เป็น NPL หรือเป็น NPL แล้วแต่รถยังไม่ถูกยึด แนวทางช่วยเหลือจะสอดคล้องกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 ของ ธปท. ได้แก่ การปรับโครงสร้างหนี้ ลดค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง สามารถขอพักชำระค่างวดได้ 3 เดือน หรือตามผลกระทบที่ลูกหนี้ได้รับ โดยแนวทางใหม่จะคำนวณดอกเบี้ยในช่วงพักชำระหนี้จากฐานของค่างวดที่ได้พักชำระหนี้ตามเกณฑ์ของ สคบ. ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยในช่วงที่พักชำระหนี้ถูกลงอย่างมาก (แนวทางเดิมเป็นการคำนวณดอกเบี้ยจากฐานของเงินต้นคงค้างทั้งหมด)
สำหรับลูกหนี้ที่เคยพักชำระค่างวดหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และได้รับผลกระทบรุนแรงจนไม่สามารถชำระหนี้ต่อไปได้ สามารถคืนรถยนต์เพื่อลดภาระหนี้ได้ และหากราคาขายรถทอดตลาดที่ได้รับต่ำกว่าภาระหนี้คงค้าง ลูกหนี้สามารถขอผ่อนปรนเพิ่มเติมได้โดยผู้ให้บริการทางการเงินอาจพิจารณายกหนี้ส่วนที่เหลือให้ตามความเหมาะสม
กลุ่มที่ 2 ลูกหนี้ที่รถถูกยึดแล้ว แต่ยังไม่ถูกขายทอดตลาด ลูกหนี้เช่าซื้อสามารถใช้ช่องทางของงานมหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในครั้งนี้ เพื่อเจรจากับเจ้าหนี้เช่าซื้อที่ร่วมงานเพื่อขอรถที่ถูกยึดไปคืน โดยเจ้าหนี้เช่าซื้อจะชะลอการขายทอดตลาด และปรับโครงสร้างหนี้ งานมหกรรมในครั้งนี้จะช่วยให้ลูกหนี้เช่าซื้อมีโอกาสที่จะนำรถกลับไปประกอบอาชีพหรือใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหนี้กับลูกหนี้เช่าซื้อจะเจรจากันเอง ไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ทำให้โอกาสที่ลูกหนี้จะได้รถที่ถูกยึดคืนมีไม่มาก แต่ในครั้งนี้หวังว่าลูกหนี้ที่ถูกยึดรถไป ส่วนหนึ่งจะมีโอกาสที่จะได้รับรถคืนซึ่งเป็นทางเลือกที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
กลุ่มที่ 3 ลูกหนี้ที่รถถูกขายทอดตลาดแล้ว แต่ยังมีมูลหนี้เช่าซื้อส่วนที่ขาด กรณีรถถูกขายทอดตลาดแล้ว ปรากฏว่าเงินที่ได้รับนั้นน้อยกว่ายอดหนี้เช่าซื้อคงเหลือ ทำให้มียอดหนี้ส่วนขาด หรือ “ติ่งหนี้” ในงานมหกรรมครั้งนี้ สคบ.และ ธปท. ได้ร่วมกันศึกษาแนวคำพิพากษาของศาลยุติธรรมเกี่ยวกับการคำนวณยอดหนี้เช่าซื้อส่วนขาด และได้จัดทำโปรแกรมการคำนวณยอดหนี้เช่าซื้อส่วนขาดแบบง่ายๆ เพื่อให้ลูกหนี้จะได้ใช้คำนวณ โดยลูกหนี้เช่าซื้อที่มีปัญหาเกี่ยวกับยอดหนี้เช่าซื้อส่วนขาดสามารถใช้ช่องทางของงานมหกรรมในครั้งนี้ไกล่เกลี่ยปัญหาที่เกิดขึ้นกับเจ้าหนี้ทั้งในส่วนที่ยังไม่มีการฟ้อง หรือฟ้องแล้ว ซึ่งคาดหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรื่องนี้เป็นธรรมมากขึ้น และช่วยให้เจ้าหนี้และลูกหนี้เช่าซื้อสามารถตกลงกันได้ง่ายขึ้นและตรงไปตรงมา
การจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อในครั้งนี้มุ่งหวังว่าจะเป็นอีกช่องทางที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกหนี้เช่าซื้อได้ ประชาชนที่มีหนี้เช่าซื้อรถยนต์หรือผู้ค้ำประกัน และหนี้เช่าซื้อถูกโอนขายไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ สามารถลงทะเบียนขอไกล่เกลี่ยหนี้ในมหกรรมไกล่เกลี่ยออนไลน์ครั้งนี้ได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ถึง 31 กรกฎาคม 2564 ผ่านเว็บไซต์ของ กรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม สคบ. ธปท. และศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) รวมทั้ง เว็บไชต์ของผู้ให้บริการทางการเงินที่เข้าร่วมมหกรรมฯ
ทั้งนี้ ขอให้ลูกหนี้ศึกษาวิธีการกรอกข้อมูลอย่างละเอียด และกรอกข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วน เพราะข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจะทำให้คำขอไกล่เกลี่ยของท่านไม่ได้รับการพิจารณาช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ถนัดในการกรอกข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ หรือต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม สามารถติดต่อ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทรศัพท์ 1213 เพื่อขอคำแนะนำและความช่วยเหลือในการกรอกข้อมูล ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น. หากนอกเวลาทำการสามารถฝากชื่อและเบอร์โทรศัพท์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือส่งอีเมลมาที่ Debtfair@bot.or.th เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไป
นางธัญญนิตย์กล่าวย้ำว่า ผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อภายใต้การกำกับของ ธปท. ทุกแห่ง จะต้องให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 นอกจากนี้ผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อหลายแห่งที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ก็มีแนวทางในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยเช่นกัน หากลูกหนี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ “ทางด่วนแก้หนี้” ของ ธปท. หรือ โทรศัพท์ 1213