25 พฤษภาคม 2564 : สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยภาพรวมผลประกอบการของธุรกิจประกันวินาศภัยไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ รวมถึงผลงานการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญในการเป็นผู้บริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพให้กับคนไทยท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติ COVID-19 โดยในไตรมาสแรกของปี 2564 ธุรกิจประกันวินาศภัยไทยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง 65,780 ล้านบาท เติบโต 2.4% เทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อน สำหรับประกันภัย COVID-19 มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงประมาณ 800 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของปี 2564 จะอยู่ที่ 253,000-265,000 ล้านบาท เติบโต 0-5%
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย คาดการณ์ว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยไทยในปี 2564 จะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 253,000-265,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 0-5% ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจ การลงทุนของภาครัฐและเอกชน การใช้จ่ายของประชาชน และการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั้งในและต่างประเทศ ในส่วนของการขับเคลื่อนภารกิจของสมาคมฯ ในการเป็นองค์กรที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืนนั้น สมาคมฯ ได้ร่วมกับบริษัทสมาชิกดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
การมอบกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มให้กับบุคลากรทางการแพทย์ สมาคมฯ ร่วมกับบริษัทสมาชิก มอบกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจำนวน 274,000 คน เพื่อแสดงความขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านที่ได้อุทิศตนและทุ่มเทในการปฏิบัติงานเพื่อต่อสู้กับโรค COVID-19 ในเวลานี้ โดยกรมธรรม์ดังกล่าวให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากโรค COVID-19 ทุนประกันภัย 1,000,000 บาทต่อคน ระยะเวลาคุ้มครอง 6 เดือน รวมทุนประกันภัยทั้งสิ้น 274,000 ล้านบาท การมอบเครื่องช่วยหายใจให้กับโรงพยาบาลบุษราคัม เมืองทองธานี
สมาคมฯ ร่วมกับบริษัทสมาชิก มอบเครื่องช่วยหายใจจำนวน 50 เครื่อง รวมมูลค่า 10,500,000 บาท ให้กับโรงพยาบาลบุษราคัม ที่จัดตั้งขึ้นในอาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานทางการแพทย์และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วยโรค COVID-19 กลุ่มสีเหลือง ให้สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที การมอบกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการแพ้วัคซีนฟรีให้กับประชาชนทั่วไป
สมาคมฯ ร่วมกับบริษัทสมาชิกจัดโครงการ “ฉีดช่วยชาติ หมอพร้อมฉีด ประกันวินาศภัยพร้อมดูแล ประกันภัยแพ้วัคซีน” มอบกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการแพ้วัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปฟรีจำนวน 13 ล้านสิทธิ์ คุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ทุนประกันภัยขั้นต่ำ 1 แสนบาท เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ในกลุ่มประชากร ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต และช่วยให้เกิดการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ยั่งยืนในระยะยาว
นอกจากนี้แล้ว สมาคมฯ ยังได้เดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจในการเป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพในการบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ เพื่อให้เกษตรกรไทยมีหลักประกันในการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นการช่วยลดภาระของภาครัฐในการจัดหาสวัสดิการสังคมให้กลุ่มคนดังกล่าว โดยสมาคมฯ ได้ร่วมมือกับภาครัฐจัดให้มีโครงการประกันภัยพืชผล ซึ่งประกอบด้วย โครงการประกันภัยข้าวนาปีและโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564 เป็นที่เรียบร้อย ภายใต้กรอบวงเงิน 2,935 ล้านบาท พื้นที่เป้าหมายรับประกันภัย 46 ล้านไร่
คณะรัฐมนตรียังได้มีมติเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เห็นชอบให้ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564 วงเงิน 311.41 ล้านบาท พื้นที่เป้าหมายรับประกันภัยรวม 2.92 ล้านไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 5.3 ล้านไร่ การดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของสมาคมฯ โดยเฉพาะการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ด้วยเหตุนี้ สมาคมฯ จึงได้จัดให้มี โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงเชิงรุกในการสร้างความสมดุลและยั่งยืนของแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค โดยโครงการธนาคารน้ำใต้ดินในปี 2564 นี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการ “หนองฮีโมเดล” ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2563 ครอบคลุมพื้นที่กว่า 88,000 ไร่ ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ณ ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่กว่า 3,200 ครัวเรือน การดำเนินโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณจาก “กองทุนประกันภัยพืชผล” ของสมาคมฯ จำนวน 23,285,500 บาท
สมาคมฯ ยังได้สนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ ตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และต้นแบบของการจัดการน้ำใต้ดินในพื้นที่แห้งแล้งที่อยู่นอกเขตชลประทาน และศูนย์การเรียนรู้ด้านการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงและพืชผลนอกฤดูกาลในภาคอีสาน เพื่อให้เกษตรกรได้เข้ามาศึกษาและขยายผลของวิธีการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่ให้เกิดการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพต่อไป การสนับสนุนโครงการธนาคารน้ำใต้ดินและโครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว ถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของสมาคมฯ ในการเปลี่ยน “ทุ่งกุลาร้องไห้” ให้เป็น “ทุ่งกุลายิ้มได้” ในอนาคต
สำหรับผลประกอบการของธุรกิจประกันวินาศภัยไทยในไตรมาสแรกของปี 2564 มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 65,780 ล้านบาท เติบโต 2.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากการเติบโตของประกันภัยทางทะเลและขนส่ง (12.8%) ประกันอัคคีภัย (4.4%) ประกันภัยรถยนต์ (2.5%) และประกันภัยเบ็ดเตล็ด (1.4%) ประกันภัยประเภทต่าง ๆ ยังคงมีแนวโน้มเติบโตดี ยกเว้นประกันภัยการเดินทางที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19
ทางด้านประกันภัยรถยนต์นั้น สถานการณ์เปลี่ยนไปเป็นผลกระทบจากโควิดโดยตรง ซึงช่วง 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.64) ตัวเลขการเติบโตของรถยนต์ใหม่ป้ายแดง -18.4% เมื่อย้อนดูตัวเลขปิดไตรมาส 1 ปี 64 มีอัตราเติบโต 2.5% เป็นผลจากยอดซื้อรถใหม่ปลายปี 63 และมาส่งมอบช่วงต้นปี 64 แต่ขณะนี้ยอดรถใหม่ป้ายแดงของรถกระบะ รถทั่วไปน้อยลงมาก จะมีก็แต่รถยนต์หรูราคาสูงยังมีการซื้อขายได้บ้าง
ส่วนประกันภัยเบ็ดเตล็ดอื่นๆ เช่นประกันการท่องเที่ยวปีที่ผ่านมา -80% มาปี 64 ตัวเลขนักท่องเที่ยวไม่มีเลยธุรกิจ -100% ขณะที่มองไปยังตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็มีจำนวนผู้ซื้อบ้านใหม่ลดลง -50% ดังนั้น ตรงจุดนี้มีผลกระทบโดยตรงกับการประกันอัคคีภัย
สำหรับประกันภัย COVID-19 นั้น มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงในไตรมาส 1/2564 ประมาณ 800ล้านบาท จำนวนกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสิ้น 1.3 ล้านกรมธรรม์ เติบโตลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในไตรมาสแรกของปี 2564 นั้นยังไม่รุนแรงมากนัก จึงทำให้การต่ออายุกรมธรรม์และการซื้อกรมธรรม์ใหม่มีจำนวนลดลงในช่วงต้นปี ในขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2563 นั้นมีการระบาดหนักของโรค COVID-19 จึงทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวและซื้อกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา ส่งผลทำให้มีการต่ออายุกรมธรรม์และซื้อกรมธรรม์ COVID-19 เพิ่มขึ้น โดยมีการซื้อกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม (ข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2564) มีจำนวนสูงถึง 9.5 ล้านกรมธรรม์ มูลค่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง 3,500 ล้านบาท
นายอานนท์ วังวสุ ได้กล่าวปิดท้ายว่า “ในภาวะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างหนักในเวลานี้ ผมขอขอบคุณคณะกรรมการบริหารสมาคมทุกท่านและบริษัทสมาชิกที่ได้ให้ความร่วมมือกับสมาคมฯ อย่างดีเยี่ยมในการขับเคลื่อนภารกิจร่วมกัน ในการนำระบบประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชนและประเทศชาติ รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมและโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ในนามของธุรกิจประกันวินาศภัยไทย ผมขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านที่ได้เสียสละและอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ และทำหน้าที่ด้วยหัวใจอันยิ่งใหญ่เพื่อให้พวกเราชาวไทยทุกคนปลอดภัย ขอส่งกำลังใจและความห่วงใยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่าน และขอเป็นกำลังใจให้กับคนไทยทุกคนในการก้าวข้ามวิกฤต COVID-19 ในครั้งนี้ไปด้วยกัน”