25 พฤษภาคม 2564 : วิจัยกรุงศรี ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาไทยในปีนี้เหลือ 3.3 แสนคน ภายใต้การคาดการณ์เศรษฐกิจขยายตัวที่ 2% โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านในปัจจุบันยังคงมีความน่ากังวล โดยเฉพาะการพบการระบาดในคลัสเตอร์ใหม่ๆ กระจายในหลายพื้นที่ ล่าสุดทางการเห็นชอบขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 2 เดือน เป็นสิ้นสุดเดือนกรกฎาคม
วิจัยกรุงศรี ประเมินผลกระทบที่รุนแรงเกินคาดจากการระบาดระลอกที่สาม อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และจากประมาณการจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันซึ่งกว่าจะเห็นการลดลงเหลือต่ำกว่า 100 ราย อาจอยู่ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงปลายเดือนสิงหาคม จึงอาจส่งผลต่อแผนการเปิดพื้นที่นำร่องโดยจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบแล้วไม่ต้องกักตัวเมื่อเดินทางเข้ามา
ดังนั้น ในไตรมาส 3/2564 มีแนวโน้มว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังน้อยอยู่ ก่อนจะค่อยเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/2564 ภายใต้การประเมินว่าทางการจะยังสามารถดำเนินโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยกดดันจากตลาดนักท่องเที่ยวที่สำคัญของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ สะท้อนจาก
(i) ผลสำรวจของ Thai-Chinese Intelligence Center ชี้ว่านักท่องเที่ยวจีน 1 ใน 3 ระบุว่าจะรอ 6 เดือนหลังจากการระบาดสิ้นสุดลงก่อนที่จะเดินทาง
(ii) จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในอินเดียและมาเลเซียยังสูงอยู่ และ
(iii) การฉีดวัคซีนที่ยังล่าช้าในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ตลอดจนเงื่อนไขของประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยวที่อาจเป็นข้อจำกัดในการเดินทางข้ามประเทศ ดังนั้น วิจัยกรุงศรีประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาไทยในปี 2564 จะมีประมาณ 3.3 แสนคน จากเดิมคาดไว้ที่ 3 ล้านคน
สำหรับตลาดในประเทศ ประเมินว่าจะมีการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยลดลงเป็น 60 ล้านคน-ครั้ง จากเดิมคาด 110 ล้านคน-ครั้ง ผลกระทบจากการระบาดระลอกสามที่รุนแรงกระทบต่อความเชื่อมั่นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศที่ต้องถูกเลื่อนออกไป
รัฐบาลเตรียมออก พ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่ 7 แสนล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดระลอกที่สาม การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 พฤษภาคม เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ออกร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อ COVID-19 ฉบับใหม่มีวงเงินไม่เกิน 7 แสนล้านบาท เบื้องต้นกำหนดนำไปใช้ใน 3 แผนงาน คือ
1) แผนเยียวยาหรือชดเชยแก่ประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ วงเงิน 400,000 ล้านบาท
2) แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 270,000 ล้านบาท และ
3) แผนงานด้านสาธารณสุข วงเงิน 30,000 ล้านบาท
เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดระลอกที่สามของ COVID-19 สะท้อนจากการทยอยปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงของหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สภาพัฒน์ฯ ปรับลดลงเป็นขยายตัว 1.5-2.5% (จาก 2.5-3.5%) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับเหลือขยายตัว 0.5-2.0% (จาก 1.5-3.0%) รวมถึงวิจัยกรุงศรีปรับเหลือโต 2% (จาก 2.2%) การออกพ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่เพิ่มเติมจากพ.ร.ก.กู้เงินวงเงิน 1 ล้านล้านบาทที่มีการใช้เกือบเต็มวงเงินแล้ว จึงมีความจำเป็นเพื่อบรรเทาผลกระทบของสถานการณ์การระบาดที่อาจจะยืดเยื้อไปถึงเดือนสิงหาคม (ตามแบบจำลองการระบาดของวิจัยกรุงศรี)
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญของการกู้เงินรอบใหม่นี้ ควรใช้ในการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เน้นใช้เฉพาะกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหรือพื้นที่ที่มีการปิดกิจกรรมเศรษฐกิจชั่วคราว และเห็นควรจำเป็นต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อลดผลกระทบกับประชาชนหรือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบกว่า 1 ปีครึ่งที่ผ่านมาด้วย สำหรับหนี้สาธารณะแม้มีแนวโน้มขยับขึ้นสูงเกินกรอบเพดานหนี้ แต่ยังถือว่าไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
สำหรับภาวะเศรษฐกิจโลก วิจัยกรุงศรีมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีสัญญาณบวก ส่วนยูโรโซนอาจปรับดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 ขณะที่ญี่ปุ่นยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบล่าสุด เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวต่อเนื่องแต่ยังห่างจากเป้าหมายระยะยาว คาดเฟดจะเริ่มปรับลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ในปีหน้า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นเดือนพฤษภาคมแตะระดับ 68.1 สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับจากเริ่มจัดทำข้อมูลเมื่อปี 2541 ส่วนจำนวนผู้ยื่นขอรับสิทธิสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 พฤษภาคมลดลงสู่ระดับ 4.44 แสนรายต่ำสุดนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เมื่อเดือนมีนาคม 2563
ข้อมูลล่าสุดในเดือนพฤษภาคมส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯยังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นสอดคล้องกับภาคการผลิต ซึ่งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อฯภาคการผลิตแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2550 ส่วนดัชนีฯภาคบริการพุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี ส่วนเฟดได้เผยแพร่รายงานการประชุมเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาซึ่งกรรมการส่วนใหญ่ยังมีความเห็นว่าการฟื้นตัวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและภาวะการจ้างงานยังห่างจากเป้าหมายระยะยาว
วิจัยกรุงศรี คาดว่า เฟดจะเริ่มหารือเรื่องดังกล่าวในไตรมาสที่4/2564 และการปรับลดการเข้าซื้อสินทรัพย์อาจเริ่มต้นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคบริการกลับมาเปิดดำเนินการได้อย่างเต็มที่และอัตราการว่างงานลดลงต่ำกว่า 4.5% ใกล้เคียงกับระดับก่อนการแพร่ระบาด แม้เศรษฐกิจยูโรโซนไตรมาสแรกหดตัว แต่คาดว่าการเร่งฉีดวัคซีนและการทยอยเปิดเศรษฐกิจจะหนุนการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2564 GDP ยูโรโซนไตรมาสที่ 1/2564 หดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาสที่ -0.6% QoQ
แต่ล่าสุดดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นเดือนพฤษภาคมแตะระดับ 56.9 สูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยดัชนีฯภาคการผลิตขยายตัวติดต่อกัน 4 เดือน ส่วนดัชนีฯภาคบริการขยายตัวสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี ในไตรมาสที่ 1/2564 เศรษฐกิจยูโรโซนเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค แต่ข้อมูลล่าสุดสะท้อนการปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2564 โดยการฟื้นตัวได้รับปัจจัยหนุนทั้ง
(i) การฉีดวัคซีนที่รวดเร็วขึ้น มีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดสไปแล้วกว่า 33.5% ขณะที่ฉีดไปแล้ว 211.4 ล้านโดสและจะแตะระดับ 400 ล้านโดสในช่วงไตรมาส 2/2564
(ii) การกลับมาเปิดดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในประเทศหลักทั้งฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี และ
(iii) ความคืบหน้าของกองทุน EU Recovery Fund มูลค่า 7.5 แสนล้านยูโร ซึ่งเม็ดเงินจะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจะหนุนให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ทยอยปรับลดขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์รายสัปดาห์ตามโครงการ PEPP ในช่วงไตรมาสที่ 3/2564
การฟื้นตัวของญี่ปุ่นในไตรมาสที่2/2564 อาจได้รับแรงกดดันจากการระบาดรอบที่ 4 ส่วน BOJ ส่งสัญญาณคงนโยบายการเงินผ่อนคลาย GDP ไตรมาส 1/2564 หดตัว 5.1% QoQ annualized ส่วนการส่งออกในเดือนเมษายนลดลง 2.7% MoM หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ในเดือนพฤษภาคมดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นลดลงสู่ระดับ 48.1 ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน โดยดัชนีฯภาคบริการปรับตัวสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ส่วนดัชนีฯภาคการผลิตขยายตัวต่อเนื่อง (ค่าดัชนี >50) เป็นเดือนที่ 4 โดยที่องค์ประกอบย่อยด้านการจ้างงานเร่งตัวขึ้น ส่วนด้านคำสั่งซื้อใหม่และการส่งออกยังคงขยายตัว
การแพร่ระบาดรอบล่าสุดยังมีความรุนแรง ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นได้ขยายการประกาศภาวะฉุกเฉินเพิ่มเติมจังหวัดโอกินาวา ส่งผลให้ครอบคลุมทั้งหมด 10 จังหวัด แต่ผลกระทบอาจรุนแรงน้อยกว่าการระบาดรอบก่อนในไตรมาสที่ 1/2564 เนื่องจากการประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งก่อนครอบคลุมพื้นที่มากกว่าทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2564 อาจได้รับผลกระทบของการระบาดรอบล่าสุด โดยเฉพาะต่อภาคบริการที่มีสัดส่วนประมาณ 69% ของ GDP
ขณะที่ภาคการผลิต (29% ของ GDP) ยังมีสัญญาณบวกสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม (Tankan) เดือนเมษายนที่แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ล่าสุดผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ระบุว่าจะพิจารณาขยายระยะเวลาของมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการระบาดต่อไปจากเดิมที่จะครบกำหนดในเดือนกันยายนนี้ ดังนั้น จึงคาดว่า BOJ จะยังคงนโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวต่อไป