3 ตุลาคม 2559 : หากย้อนรอยไปวันวาน เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2558 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือที่หลายคนคุ้นหูกันดีในนาม ก.ล.ต. เปาปุ้นจินแห่งวงการตลาดทุนไทย ได้ประกาศแต่งตั้ง “นายรพี สุจริตกุล” เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คนล่าสุด งานนี้เหล่าคนในวงการต่างชื่นชมกันเป็นเสียงเดียวกันว่า “เป็นคนดีมีฝีมือ ฝากความหวังไว้กับท่านได้แน่นอน” นับจากวันนั้นถึงวันนี้ ดูเหมือนความหวังที่หลายคนฝากไปเริ่มทำงานไปอย่างรวดเร็วพร้อมกับกาารเชือดไก่ให้ลิงดู ทีละรายสองรายสำหรับผู้ที่ฝืนกฎเกณฑ์ต่างๆที่ทาง ก.ล.ต. ตั้งไว้
ตั้งแต่ เลขาก.ล.ต.คนใหม่เข้ามานั้งเก้าอี้ได้ไม่กี่เดือนก็เริ่มเช็คบิลผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) โบรกเกอร์ นักปั่นหุ้น ฯลฯ จนมีคำแถลงเอาผิดกับบุคคลที่กระทำผิดผ่านสื่อแทบทุกวัน ไม่ใช่แค่จับผิดอย่างเดียว แต่ก.ล.ต.ยุคใหม่ยังมีกฎเกณฑ์ใหม่ออกมาเรื่อยๆให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสะดุ้งสะเทือนไปพร้อมๆกัน ต้องปฎิบัติกันอย่างเคร่งขัด เพราะห้ามไม่กระทำตาม เป็นอันว่า ไม่มีที่ยืนต่อแน่นอน แต่หากตรวจสอบเจอข้อสงสัยก็ต้องเตรียมเอกสารและข้อมูลต่างๆที่ให้มากพอที่จะยืนยันความบริสุทธิ์ให้ได้
ก.ล.ต.ยุคใหม่ยุคภายใต้รัฐบาลของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ไม่เฮียบก็คงไม่ได้ แต่การเฮียบนั้นถือเป็นเรื่องดีที่ทำให้ตลาดทุนไทยให้มีความแข็งแกร่ง เพราะจะทำให้แม่งเมาก็จะบินเข้ากองไฟน้อยลง เนื่องจากแมงเม่าจะรู้ทันเกมตลาดทุนมากขึ้น และการที่เลขาก.ล.ต.นั้งคุมบังเหี้ยนคราวนี้ ไม่ใช่มาเพื่อความโก้หรู แต่มาพร้อมการแบกรับภาระกิจอันใหญ่หลวงไว้มากมาย วัตถุประสงค์หลักๆ คือ การคุมเข้มภารกิจการปรับโครงสร้างตลาดทุนไทยให้แข็งแกร่ง และจากผลงาน 1 ปีก็แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจทำงานของท่านเลขาฯ ไม่น้อย
ล่าสุด ท่านเลขาฯได้ออกกฎเกณฑ์คุมเข้มการลงทุน ผ่านร่างพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่ งานนี้เป็นที่โจทย์จันในแวดวงการลงทุนไม่น้อย เพราะจากที่อ่านรายละเอียดคราวดูเหมือนจะคุมเข้มมากจนผู้ที่เกี่ยวข้องถึงกับส่ายหัว แต่อย่างไรก็ดี หากมองในมุมนักลงทุน ก็ถือเป็นเรื่องดีงาม ที่มีเครื่องมือในการกลั่นกรองข่าวสารที่คอยปั่นราคาหุ้นจนแมงเม่าหลายตัวหลงเข้ากองไฟจนมอดไหม้ สำหรับ ร่าง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฉบับใหม่ : สำหรับนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ล่าสุด ได้มีการชี้แจ้งข้อสงสัยต่างๆไว้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว ผู้อ่านอาจจะได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย
คำถามและคำตอบ เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฉบับใหม่ : สำหรับนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ (จัดทำโดย ก.ล.ต.) 1. ในกรณีที่นักวิเคราะห์ได้ข้อมูลมาแต่ไม่ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล หากใส่ในบทวิเคราะห์มีความผิดหรือไม่
คำตอบ : ความเชื่อมั่นในตลาดทุนจะเกิดขึ้นได้ เมื่อผู้ลงทุนโดยทั่วไปได้รับข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนที่ถูกต้อง กฎหมาย จึงกำหนดว่า การให้ข้อมูลต่อ public ต้องไม่เป็นข้อมูลเท็จ หรือเป็นข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน ราคาซื้อขายหลักทรัพย์ หรือข้อมูลอื่นใดเกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียน โดยผู้ให้ข้อมูลรู้ว่าข้อมูลดังกล่าวมีผลกระทบต่อราคาหุ้นหรือต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน
หากเป็นข้อมูลคำแนะนำจากนักวิเคราะห์ต้องเป็นข้อมูลที่ผ่านการจัดทำจากข้อมูลที่ถูกต้อง โดยยึดตามมาตรฐานวิชาชีพ และหากต้องการวิเคราะห์คาดการณ์อนาคต ยังสามารถทำได้ เพียงแต่ผู้ที่จะทำ : ก. ต้องไม่นำข้อมูลที่รู้ว่าเท็จหรือไม่ครบถ้วนมาใช้วิเคราะห์คาดการณ์ ข. ต้องไม่เข้าข่ายละเลยที่จะพิจารณาว่าข้อมูลนั้นถูกต้องหรือไม่ ค. ต้องไม่พยายามบิดเบือนข้อมูล
2. ใครครอบครองข้อมูลภายใน และนำไปซื้อขาย หรือบอกกล่าว โดยรู้ว่าจะถูกนำไปซื้อขาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ใกล้ชิด insider บุพการี พี่น้อง และ บุตร จะมีความผิดใช่หรือไม่
คำตอบ : หลักเรื่อง insider trading เป็นหลักที่มีอยู่ใน กฎหมาย ปัจจุบันอยู่แล้ว และมีใช้ในนานาประเทศทั่วโลก กฎหมายใหม่ เน้นที่การคุ้มครองข้อมูลที่เป็นข้อมูลภายในให้ไปถึงผู้ลงทุนทั่วไปอย่างเท่าเทียม โดยกำหนดให้ผู้รู้หรือครอบครองข้อมูภายใน และนำไปใช้หาประโยชน์หรือเอาไปบอกคนอื่นซึ่งควรรู้ว่าคนอื่นนั้นอาจนำไปหาประโยชน์ เป็นความผิด โดยมีบทสันนิษฐานบุคคล (ม. 243) ว่าเป็นผู้รู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน และหากนำไปหาประโยชน์หรือเอาไปบอกคนอื่น อาจเป็นความผิด ซึ่งผลคือ หากบุคคล/นิติบุคคลกลุ่มนี้ถูกตรวจสอบ ก็จะต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์หักล้างว่า ไม่ได้ใช้ข้อมูลภายใน
นอกจากนี้ ยังมีบทสันนิษฐานบุคคล (ม. 244) ในกลุ่มบุคคลที่ใกล้ชิดที่ห่างออกไปอีกชั้นหนึ่ง โดยหากกลุ่มนี้มีการซื้อขายที่ผิดไปจากปกติของตน ก็จะถูกสันนิษฐานว่าใช้ข้อมูลภายใน ทำให้ต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์หักล้าง
3. ผู้ที่ไม่ได้เป็นนักวิเคราะห์แต่ทำตัวเป็นกูรูหุ้นออกทีวี วิทยุ เฟซบุ๊ค จะมีโทษหรือไม่
คำตอบ : กฎหมายใหม่ครอบคลุมทุกคน หากเข้าข่ายบอกกล่าว เผยแพร่ หรือให้คำรับรองข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน ราคาซื้อขายหลักทรัพย์ หรือข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวกับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ โดยประการที่น่าจะทำให้มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์หรือต่อการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ ก็จะมีความผิดตามกฎหมาย (ม. 240) กรณีวิเคราะห์คาดการณ์ กฎหมาย ใหม่ ก็ครอบคลุมทุกคนที่กระทำตามนัยในมาตรา 241 เช่นกัน
4. ใครเป็นผู้กล่าวโทษนักวิเคราะห์ หากมีผู้ได้รับความเสียหายจากบทวิเคราะห์
คำตอบ : ขึ้นอยู่กับการตรวจพบหรือการแจ้งเบาะแส ซึ่ง ก.ล.ต. ก็จะมีการพิจารณาดำเนินการไปตามขั้นตอนปกติ หากพบว่าบทวิเคราะห์ถูกจัดทำโดยไม่สอดคล้องกันกับข้อ 1
5. head of research หรือบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ผิดหรือไม่ หากนักวิเคราะห์ผิด
คำตอบ : ในปัจจุบัน มีหลักเกณฑ์กำหนดให้ บล. ต้องมีระบบงานในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานด้านการจัดทำบทวิเคราะห์อยู่แล้ว ซึ่ง บล. ต้องมีมาตรการป้องกันและกำกับดูแลการปฏิบัติงานของนักวิเคราะห์ ไม่ให้มีการนำข้อมูลใช้ข้อมูลที่มีนัยสำคัญและยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน ไปหาประโยชน์หรือเปิดเผยต่อบุคคลอื่น รวมทั้งต้องมีการคัดเลือกและตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลก่อนนำไปใช้จัดทำบทวิเคราะห์ ซึ่งสอดคล้องตามแนวทางที่กฎหมายที่ปรับปรุงใหม่กำหนด ดังนั้น หากมีการกระทำผิด และพบว่า บล. มีข้อบกพร่อง บล. ก็อยู่ในข่ายที่กระทำผิดตามประกาศที่กำหนด และตามกฎหมายที่ปรับปรุงใหม่ด้วย
6. ละเลยการพิจารณาความถูกต้อง ครอบคลุมอะไรบ้าง ใช้ข้อมูลใน นสพ. ได้หรือไม่
คำตอบ : ไม่ว่าจะมีกฎหมายใหม่หรือไม่ แหล่งข้อมูลที่นักวิเคราะห์ใช้ต้องมาจากแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ ซึ่งปัจจุบัน บล. มีการกำหนดให้นักวิเคราะห์ต้องปฏิบัติ และสมาคมนักวิเคราะห์ก็กำหนดในมาตรฐานวิชาชีพไว้อยู่แล้ว กฎหมายใหม่กำหนดความรับผิดของผู้กระทำ เพื่อให้ข้อมูลที่เผยแพร่ต่อผู้ลงทุนในตลาดทุนมีคุณภาพ และมิได้ทำให้ผู้ลงทุนเสียหาย
7. การใส่ disclaimer ว่าไม่รับผิดชอบต่อความผิดพลาดต่อข้อมูล จะยังมีความผิดหรือไม่
คำตอบ : คงเป็นเรื่องที่ต้องดูที่เจตนา หากมีเจตนาที่ไม่ถูกต้อง การใส่ disclaimer ก็มิใช่หนทางที่จะทำให้ผู้กระทำหลุดพ้นจากการเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งหลักการนี้เป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมาย ซึ่งต้องดูที่เจตนาเป็นหลักด้วย มิได้เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายใหม่
8. การทำ preview งบของนักวิเคราะห์ เพื่อจัดทำบทวิเคราะห์ สามารถทำได้หรือไม่?
คำตอบ : ยังคงสามารถจัดทำ preview งบได้ แต่ผู้บริหาร บจ. ต้องระมัดระวังไม่เปิดเผยข้อมูลภายใน และหากมีกรณีการเปิดเผยข้อมูลภายในออกมา นักวิเคราะห์จะต้องไม่นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการจัดทำบทวิเคราะห์ ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่ถูกคาดหวังอยู่แล้วว่า ในการจัดทำบทวิเคราะห์ นักวิเคราะห์ควรใช้มาตรฐานวิชาชีพในการพิจารณาประเมินว่า ข้อมูลที่ได้รับเป็นข้อมูลภายในที่ยังไม่ได้เปิดเผยสู่ public หรือไม่ หากเป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้เปิดเผย ก็ห้ามนำไปใช้ต่อ ในส่วนของกฎหมายใหม่ เป็นเพียงแต่ระบุเป็นความผิดไว้ หากนักวิเคราะห์นำข้อมูลที่รู้หรือควรรู้ว่ายังไม่ได้เปิดเผยไปใช้ ก็เข้าข่ายมีความผิดเรื่อง insider trading ได้
สำหรับผู้บริหาร บจ. ต้องใช้ความระมัดระวังเช่นเดียวกัน โดยให้ข้อมูลสำคัญที่อาจมีผลกระทบต่อราคาหรือการตัดสินใจของผู้ลงทุน แก่ผู้ลงทุนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมในเวลาเดียวกัน มิใช่ให้ข้อมูลภายในแก่กลุ่มบุคคลใด ๆ โดยยังมิได้เปิดเผยสู่ public (ในทางปฏิบัติ การเปิดเผยข้อมูลสู่ public สามารถดำเนินการได้ผ่านระบบของตลาด) ทั้งนี้ แม้กระทั่งปัจจุบันก็มีการห้ามมิให้เปิดเผยข้อมูลภายใน เว้นแต่จะได้เผยแพร่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว
9. หาก บลจ. ขอให้ บล. พาไปพบกับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน แล้ว บลจ. ใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้น บลจ. ผิดหรือไม่
คำตอบ : การเข้าพบผู้บริหารสามารถทำได้ แต่การนำข้อมูลมาใช้จะขึ้นกับลักษณะข้อมูล ถ้าไม่ได้นำ inside information มาใช้ ถือว่าทำได้
10. บล. กำลังจะออกบทวิเคราะห์ ซึ่งยังไม่มีใคร cover จะเข้าข่าย inside information หรือไม่
คำตอบ : การออกบทวิเคราะห์ที่ยังไม่มีใครเคยจัดทำ ไม่เข้าข่ายเป็นความผิด แต่หากข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำเป็นข้อมูลภายในโดยที่รู้ว่าเป็น inside information ก็เข้าข่ายมีความผิดได้
11. นักวิเคราะห์ทำอะไรได้บ้าง
คำตอบ : นักวิเคราะห์ยังคงสามารถปฏิบัติงานได้ตามมาตรฐานการปฏิบัติงานตามปกติที่เคยปฏิบัติ โดยต้องใช้ข้อมูลที่เป็น public information เป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์ตามหลักวิชา ซึ่งหลักการนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่
12. เมื่อไป visit ทราบว่าบริษัทกำลังจะขยายกำลังการผลิต นักวิเคราะห์ initiate paper จะผิดหรือไม่
คำตอบ : ขึ้นอยู่กับว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลภายในหรือไม่ เพราะการขยายกำลังการผลิตอาจไม่ใช่ข้อมูลภายในที่มีสาระสำคัญต่อราคาหลักทรัพย์ในทุกกรณี สำหรับนักวิเคราะห์ที่เข้าพบ รู้หรือไม่ว่าข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลภายใน หากรู้ว่าเป็นข้อมูลภายในและนำไปใช้ ก็อาจเข้าข่ายความผิด insider trading (ข้อมูลภายใน คือ ข้อมูลที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงราคาและยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชน)
13. ข้อมูลอะไรถือเป็น public information (ไม่ใช่ข้อมูลภายใน) หมายถึงข้อมูลที่เปิดเผยผ่านระบบ
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช่หรือไม่
คำตอบ : การกำหนดประเภทข้อมูลที่ต้องเผยแพร่ผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้กระจายสู่ผู้ลงทุนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมนั้น มีกำหนดอยู่ในกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่แล้ว โดยหากเป็นข้อมูลที่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ ก็จะเข้าข่ายเป็นข้อมูลภายใน ซึ่ง บจ. มีหน้าที่ต้องเปิดเผยผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อน หรือหากมีการรั่วไหล บจ. ก็มีหน้าที่ต้องชี้แจงผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ public ได้รับทราบข้อมูลทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
สำหรับข้อมูลอื่น ๆ โดยทั่วไป บจ. สามารถเผยแพร่ได้ตามช่องทางต่าง ๆ อาทิ เว็บไซต์ของบริษัท หรือผ่านหนังสือพิมพ์ได้ โดยไม่ได้เกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายหลักทรัพย์แต่อย่างใด การสรุปว่าข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้น จึงจะถือเป็น public information จึงเป็นเรื่องคนละประเด็นกัน
หมายเหตุ : จากคำถามส่วนใหญ่ข้างต้นจะเป็นประเด็นความเข้าใจความหมายของข้อมูลภายใน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายปัจจุบัน ไม่ได้เป็นเรื่องที่กฎหมายใหม่กำหนดขึ้นใหม่หรือเปลี่ยนแปลง จึงสามารถพิจารณาได้จากสิ่งที่ปฏิบัติอยู่ตามกฎหมายปัจจุบัน ประกอบกับแนวมาตรฐานของสมาคมนักวิเคราะห์ ซึ่งในขณะนี้ ก.ล.ต. กับสมาคมนักวิเคราะห์กำลังจะนำเรื่องนี้มาจัดทำเป็นแนวทาง เพื่อซักซ้อมและทำความเข้าใจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป