21 พฤษภาคม 2564 : กรุงศรี เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์สนุก ขำ มันส์ ฮา และข้อแนะนำดีๆ พิเศษสำหรับชาว LGBTQ+ โดยเฉพาะ ด้วยการเปิดห้องสนทนา Clubhouse แพลตฟอร์มสนทนาเรียลไทม์ยอดฮิต ในหัวข้อ “มีคู่ว่ายากแล้ว เรื่องเงินทองยากไปอีก” พูดคุยเรื่องการเงินให้เป็นเรื่องสนุก เข้าถึง และเข้าใจง่ายไปกับเหล่าคนดังในวงการบันเทิงและโซเชียลมีเดีย อย่างดีเจ เอกกี้ เจนนี่ ปาหนัน และ เอแคลร์ จือปาก เปลี่ยนช่วงเวลากว่า 1 ชั่วโมงครึ่งให้เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะผสมผสานไปกับสาระความรู้ด้านการเงินและการวางแผนชีวิต นำเสนอแนวทางออมเงิน และทางเลือกด้านการลงทุนที่หลากหลายเหมาะกับไลฟ์สไตล์ที่แตกต่าง
พร้อมเผยโอกาสทางการเงินเพื่อคู่รักคู่เพื่อน สามารถกู้ร่วมซื้อบ้านด้วยกันได้กับกรุงศรี อีกทั้งไขทุกข้อข้องใจของผู้ร่วมฟัง Clubhouse ร่วม 500 คน นับเป็นการเปิดพื้นที่ทางการเงินให้กับ LGBTQ+ เข้ามาเรียนรู้กับทีมผู้บริหารจากธนาคารกรุงศรีอย่างเปิดใจและใกล้ชิด
บรรยากาศในการพูดคุยในหัวข้อ “มีคู่ว่ายากแล้ว เรื่องเงินทองยากไปอีก” เปิดฉากเรียกเสียงฮากับ 3 คนดัง โดยมี ดีเจเอกกี้-เอกชัย เอื้อสังคมเศรษฐ ในฐานะผู้ดำเนินรายการและยังเป็นกูรูในเรื่องการเงินด้วย ทักทายสองสาวแขกรับเชิญชาว LGBTQ+ อย่าง เจนนี่ ปาหนัน นักแสดง พิธีกรรายการเทยเที่ยวไทย ยูทูปเบอร์ช่อง Jennie Panhan และ เอแคลร์ จือปาก บิวตี้บล็อกเกอร์สุดชิค ยูทูปเบอร์ Juepak ที่มีผู้ติดตามสูงมากกว่า 5 แสน มาบอกเล่าประสบการณ์ทางการเงินของตัวเอง
เจนนี่ เล่าว่า เทคนิคในการบริหารเงินจะแบ่งออกเป็น 3 บัญชี คือ เงินเข้า ใช้จ่าย และเงินเก็บ แล้วก็มองหาวิธีการบริหารเงินในบัญชีให้งอกเงย เช่น ซื้อทองคำ ลงทุนในหุ้น แต่ก็ยังมีเรื่องคิดหนักกับที่พักอาศัย เพราะบ้านเช่าที่เคยเช่าร่วมกับเพื่อน แชร์ค่าห้องกันมาก่อน เมื่ออยู่คนเดียวแล้วยังไม่อยากย้ายไปที่อื่นเพราะเชื่อหมอดู ก็ต้องแบกรับค่าเช่าหลายหมื่นบาทต่อเดือน จึงคิดอยากจะซื้อบ้านแต่ก็ยังไม่มีความรู้มากพอ
ในขณะที่ เอแคลร์ เผยถึงวิธีจัดการเงินของตนเองว่า เป็นคนที่ประหยัดอดออมมาก หามาได้เท่าไรก็จะเก็บ ไม่ค่อยใช้จ่าย แต่เมื่อจะจ่ายเงินลงทุนไปกับสิ่งใด จะต้องดีที่สุด เธอจึงเลือกลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์ เพราะเป็นสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มราคาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และเชื่อว่าการซื้อบ้านเป็นการออมเงินวิธีหนึ่ง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าการตัดสินใจซื้อบ้านด้วยเงินสดทั้งหมดนั้นดีหรือไม่ เพราะตอนนี้รู้สึกเสียดายคิดว่าน่าจะแบ่งเงินบางส่วนมาลงทุนธุรกิจด้วย
กมลวรรณ อิ่มฤทัยเจริญโชค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานผลิตภัณฑ์การลงทุนและผลิตภัณฑ์ลูกค้ารายย่อย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ให้คำแนะนำกับผู้ร่วมรายการและผู้ฟังในห้อง Clubhouse ว่า สิ่งสำคัญในการบริหารเงินนั้นคือต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและมีความเป็นไปได้ รวมทั้งกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน อย่างเช่นการออมเงิน เมื่อตั้งเป้าว่าจะเก็บเงินให้ได้จำนวนเท่าไร ก็ต้องพิจารณาถึงความสามารถในการบรรลุเป้าหมายนั้นได้อย่างไร ซึ่งวินัยการออมเป็นสิ่งสำคัญ
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินจำนวนมากที่มีประสิทธิภาพเหมาะกับไลฟ์สไตล์และรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคน เช่น บางคนที่มองหาทางเลือกเก็บเงินเพื่อฉุกเฉิน เงินฝากออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยสูงก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ บางคนต้องการทำเงินให้งอกเงยอาจนำไปลงทุนในกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง หรือบางคนอาจมีความกังวลเรื่องความไม่แน่นอนอาจเลือกการออมในรูปแบบประกัน เป็นต้น
หลังจากได้เทคนิคบริหารเงินออมกันไปแล้ว หลายคนก็ยังมองว่า ชาว LGBTQ+ มีเรื่องเงินๆทองๆที่น่ากังวลใจอยู่อีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะการกู้เงินซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือซื้อบ้าน หากจะกู้คนเดียวก็อาจแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว แต่ถ้าจะกู้ร่วมกับคู่รักของตน ก็เจอเงื่อนไขที่ว่าไม่ได้เป็นสามีภรรยากันตามกฎหมาย นั่นทำให้การกู้ร่วมกับคู่ชีวิตคู่รักเพศเดียวกันนั้นเหมือนถูกปิดประตูใส่หน้า แต่ตอนนี้มีข่าวดีแล้วสำหรับ ชาว LGBTQ+ กับประตูบานใหม่ กรุงศรีให้ขอสินเชื่อบ้านร่วมกันได้ในฐานะคู่เพื่อน
ณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านเพื่อคู่เพื่อนที่ต้องการใช้ชีวิตร่วมกันเป็นความตั้งใจที่เกิดขึ้นนานแล้ว ด้วยแนวคิดการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง คิดว่าไม่ควรมีกำแพงเรื่องเพศเข้ามาขวาง ธนาคารยุคใหม่ต้องให้บริการที่เหมาะสมกับลูกค้าที่แตกต่างกันได้ พร้อมฟังเสียงสะท้อนและตอบสนองความต้องการที่ซ่อนอยู่ จึงเป็นที่มาของการขอสินเชื่อบ้านร่วมกันได้ในฐานะคู่เพื่อนสำหรับลูกค้าธนาคารกรุงศรีโดยเฉพาะ
สำหรับขั้นตอนการทำธุรกรรมและหลักประกันนั้น ณัฐพล เผยว่า การมีบ้านร่วมกันของคู่รักคู่เพื่อน LGBTQ+ นั้นง่ายมาก ขอเพียงหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าทั้งสองคนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ซึ่งนอกจากจะพิจารณารายได้ของทั้งสองฝ่ายแล้ว เพียงแค่มีบัญชีเงินฝากที่เปิดร่วมกัน บิลค่าใช้จ่ายที่ระบุที่อยู่เดียวกัน หรือเป็นเจ้าของกิจการซึ่งจดทะเบียนบริษัทร่วมกันมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ก็เพียงพอที่จะนำมาแสดงถึงความมั่นคง สามารถประกอบการยื่นกู้ได้แล้ว และในช่วงนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีมากๆ สำหรับคนอยากมีบ้าน และมีความสามารถในการซื้อ เพราะจะมีโอกาสได้เลือกบ้านที่พึงพอใจในราคาถูกกว่า แถมยังได้ดอกเบี้ยชำระสินเชื่อบ้านไม่สูงอีกด้วย
นอกจากนั้นยังมีอีกหนึ่งเคล็ดลับที่จะทำให้ LGBTQ+ รู้สึกคุ้มค่ามากขึ้น ด้วยการซื้อประกันคุ้มครองสินเชื่อบ้าน หรือ MRTA ที่จะช่วยปกป้องความเสี่ยงในการซื้อบ้านได้ โดยประกันจะเข้ามาจ่ายเงินกู้ที่ยังค้างอยู่กับธนาคารให้แทน และถ้ายังเหลือเงินส่วนต่างก็จะมอบให้กับผู้รับผลประโยชน์ที่ระบุไว้ ซึ่งผู้กู้จะทำประกันทั้งคู่หรือเพียงคนใดคนหนึ่งก็ได้ แต่แนะนำว่าการซื้อด้วยกันทั้งคู่ ต่างฝ่ายต่างมอบผลประโยชน์ให้กัน ช่วยปกป้องความเสี่ยงได้มากยิ่งขึ้น แต่ในกรณีที่กู้ซื้อบ้านไปแล้วโดยไม่ได้ทำประกันคุ้มครองสินเชื่อบ้าน แนะนำว่าอาจเลือกซื้อประกันคุ้มครองชีวิตประเภทอื่นๆที่เหมาะสม ก็จะช่วยแบกรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้นั่นเอง
การเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “มีคู่ว่ายากแล้ว เรื่องเงินทองยากไปอีก” ใน Clubhouse นี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี พบว่ามีจำนวนผู้เข้าฟังและมีส่วนร่วมกว่า 500 คน ยกมือตั้งคำถามมากมายที่ยังคงติดค้างอยู่ อาทิ อาชีพรับจ้างอิสระหรือ Freelance จะยื่นกู้ซื้อบ้านเพียงคนเดียวได้หรือไม่ หรือควรกู้ร่วมกับพี่สาวดีกว่ากัน ซึ่งผู้บริหารกรุงศรีให้ความเห็นว่า สามารถทำได้ทั้งสองวิธี เนื่องจากกู้ร่วมในฐานคู่เพื่อนได้
ส่วนในกรณีกู้เดี่ยว แนะนำให้จัดการกับ Statement นำรายรับเข้าบัญชีเป็นประจำต่อเนื่องตลอด 12 เดือน เป็นต้น และก่อนจะปิดห้องสนทนาก็ยังมีผู้สนใจส่งคำถามเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งทุกคำถามสะท้อนว่าผู้ฟัง Clubhouse ต่างมีความสนใจอยากรู้เรื่องการเงินกันอยู่แล้ว แต่ไม่มีพื้นที่ให้พวกเขามีส่วนร่วม ซึ่งการเสวนาครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีมากๆ ที่ผู้บริหารธนาคารได้เข้ามาตอบทุกข้อสงสัย เพื่อให้ทุกคนโดยเฉพาะชาว LGBTQ+ มีเคล็ดลับบริหารการเงินที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการที่แตกต่างได้มากที่สุด