14 พฤษภาคม 2564 : KBank Private Banking ร่วมกับ Lombard Odier พันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งเป็นไพรเวทแบงก์ระดับโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ จัดงาน Live Streaming Conference จากเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในหัวข้อ “RETHINK PERSPECTIVE: PATH TO PANDEMIC RECOVERY” เพื่อเจาะลึกแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนโฉมหลังการระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด 19 รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกที่เร่งขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ ส่งผลให้ตลาดกำลังเปลี่ยนแปลงและโอกาสในการลงทุนกำลังเปลี่ยนไป เพื่อให้พอร์ตการลงทุนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในยุค Post-COVID โดยมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และกลยุทธ์การลงทุนระดับโลกของ Lombard Odier
ดร.แซมมี่ ชาร์ หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ Lombard Odier มองภาพรวมเศรษฐกิจว่า “การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกยังไม่ทั่วถึง ด้วยความแตกต่างของความสามารถในการกระจายวัคซีน ทำให้ประเทศที่กระจายวัคซีนได้รวดเร็ว อย่างสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และประเทศในยุโรป กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับมาเป็นปกติ ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่น โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ Herd Immunity ได้ในไตรมาส 3 ของปีนี้”
“นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะของสหรัฐฯ อย่าง มาตรการเยียวยาจากวิกฤตโควิด 19 มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศเป็นหลัก และยังมีวงเงินลงทุนระยะยาวในโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ American Families Plan ที่เน้นดูแลเด็กและการศึกษา มูลค่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นตัวเร่งสำคัญที่ส่งให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาฟื้นตัวได้ดี ในด้านการขึ้นภาษีในสหรัฐฯ ที่จะสร้างรายได้เพื่อชดเชยมาตรการทางการคลังคาดว่าจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และส่งผลกระทบไม่มาก
โดยรวมคาดว่าประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมากกว่าผลเสียจากการขึ้นภาษี ที่เน้นการขึ้นภาษีคนรวยเป็นหลัก ในขณะเดียวกันการขึ้นภาษีรายได้จากการขายสินทรัพย์ในตลาดหุ้น หรือ Capital Gain Tax คาดว่าคงไม่สามารถขึ้นภาษีได้ถึง 39% แต่อาจจะขึ้นจาก 20% เป็น 30% เท่านั้น”
จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค มร.สเตฟาน โมเนียร์ ผู้บริหารการลงทุนระดับสูง Lombard Odier มีมุมมองต่อตลาดหุ้นในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ แตกต่างกันไป ดังนี้
หุ้นกลุ่มตลาดเกิดใหม่ หุ้นยุโรป และตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ น่าจะให้ผลตอบแทนดีที่สุด ในอีก 1 ปี ข้างหน้าบริษัทจดทะเบียนในสหราชอาณาจักร ตลาดเกิดใหม่ และยุโรป มีกำไรสุทธิต่อหุ้น หรือ Earing จะเติบโตได้ดีกว่าภูมิภาคอื่นในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว คาดว่าหุ้นคุณค่า หรือ Value Stock จะมีผลตอบแทนที่โดดเด่นกว่าหุ้นกลุ่มเติบโต หรือ Growth Stock แม้ราคาต่อหุ้นจะค่อนข้างแพง แต่การเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้น หรือ Earning ยังคงสนับสนุนให้น่าสนใจต่อเนื่อง
ในทางกลับกัน มองว่า ทองคำ ตราสารหนี้ยุโรป และตราสารหนี้ในสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนน้อยที่สุด จากการคาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี จะอยู่ที่ 2.0% ณ สิ้นปี 2564 และ 2.5% ในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อผลตอบแทนทองคำ
ส่วนมุมมองต่อกระแส Bitcoin มร. สเตฟานกล่าวต่อว่า “มีโอกาสที่ทั่วโลกจะใช้ Cryptocurrency แพร่หลายมากขึ้นในอนาคต และเชื่อว่าเทคโนโลยี Block Chain จะเข้ามามีบทบาทในโลกการเงินมากขึ้น แต่ในแง่ของการลงทุนนั้นมองว่ายังมีความเสี่ยงอยู่มาก เพราะ 1) ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ ราคาเคลื่อนไหวตาม Demand-Supply 2) นวัตกรรมและเทคโนโลยีอาจทำให้มี Crypto Asset ใหม่ๆ ที่ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จมากกว่า Bitcoin”
ด้านกลยุทธ์การลงทุน Lombard Odier ยึดหลักลงทุนโดยการกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์หุ้น และกระจายการลงทุนทั้ง Growth + Value Stock ให้ความสำคัญกับการลงทุนในหุ้นยั่งยืนตราสารหนี้ โดยเน้นลงทุนในจีน เพราะมีผลตอบแทนที่น่าดึงดูดเติมเต็มพอร์ตด้วย Private Assets (โดยเฉพาะ Private Equity) เพื่อเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาวเช่นเดียวกับมุมมองจาก Lombard Odier
“ท่ามกลางสภาวะตลาดปัจจุบันที่มีความผันผวนสูง แต่แนวโน้มเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากการทยอยเปิดเมือง จากการเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ถือเป็นปัจจัยเอื้อต่อตลาดหุ้น และธนาคารฯ ยังคงเชื่อมั่นว่าการลงทุนระยะยาว ผ่านการกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนในระยะสั้น อีกทั้งยังคงเน้นการลงทุนหุ้นในธีม Winner of New Economy, Health is Wealth และ Save the World ที่ล้วนมีปัจจัยสนับสนุนเฉพาะ รวมไปถึงความสามารถในการคัดเลือกหุ้นของผู้จัดการกองทุนชั้นนำของโลก ที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว” นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวปิดท้าย