30 กันยายน 2559 : อลิอันซ์ เปิดเผย “รายงานความมั่งคั่งทั่วโลก” (“Global Wealth Report”) แสดงให้เห็นถึงสินทรัพย์และสถานการณ์ของหนี้ครัวเรือนในกว่า 50 ประเทศที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ระบุชัดสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.9 ในปี 2559 สูงกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อย ซึ่งถือว่าเป็นการขยายตัวที่ลดลงมาก หากเทียบกับ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 9 ขณะที่ประเทศไทยประสบภาวะหนี้ภาคครัวเรือนพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้สินทรัพย์สุทธิต่อหัวลดลง
ดร.ไมเคิล ไฮส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มอลิอันซ์ เยอรมนี ผู้ถือหุ้นหลักของ บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต เปิดเผยว่า พัฒนาการของสินทรัพย์ทางการเงินได้มาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ และเห็นได้ชัดว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่สุดโต่งกำลังไร้ผล แม้แต่ต่อราคาสินทรัพย์เอง เป็นผลให้ตัวขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับการเติบโตของสินทรัพย์ไม่มีเหลืออยู่เลย ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยยังคงขยับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีตัวช่วยอื่นที่จะมาสนับสนุนการเติบโต”
การเติบโตของสินทรัพย์ทางการเงินในประเทศอุตสาหกรรมชะลอตัว
รายงานระบุอีกว่า ในปี 2559 นี้ อัตราการเจริญเติบโตที่ชะลอตัวลงเกิดขึ้นในยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งหนักที่สุด ในยุโรปตะวันตก (เติบโตร้อยละ 3.2) และสหรัฐอเมริกา (เติบโตร้อยละ 2.4) ถือเป็นการเติบโตของสินทรัพย์ลดลงมากกว่าครึ่ง ในขณะที่ เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) สินทรัพย์ทางการเงินขยายตัวถึงร้อยละ 14.8 ทั้งนี้ สินทรัพย์ทางการเงินรวมทั่วโลก จำนวน 155 ล้านล้านยูโร (6,000 ล้านล้านบาท) อยู่ในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) คิดเป็นร้อยละ 18.5 ตัวเลขนี้แสดงว่าไม่เพียงแต่สัดส่วนของสินทรัพย์ที่ถือครองโดยภูมิภาคนี้มีมากขึ้นถึงสามเท่านับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา แต่ส่วนแบ่งของภูมิภาคขณะนี้ดีกว่ายูโรโซน (ร้อยละ 14.2) อย่างเห็นได้ชัด
ในแง่ของการเติบโตของภาระหนี้ ความเหลื่อมล้ำในระดับภูมิภาคมีมาก
ขณะที่หนี้ภาคครัวเรือนในปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 4.5 ขยายตัวในอัตราเดียวกันกับในปี 2557 โดยรวมแล้ว หนี้ภาคครัวเรือนสูงถึง 386 ล้านล้านยูโร (1.5 หมื่นล้านล้านบาท) ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์จะเห็นได้ว่า ในแต่ละภูมิภาคมีพัฒนาการที่แตกต่างกันมาก อาทิ ในเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) การเติบโตของหนี้สูงขึ้น และในบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ หรือ มาเลเซีย อัตราส่วนหนี้ เช่น หนี้สินภาคครัวเรือนวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับเดียวกับที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ หรือ สเปน ที่หนี้สำหรับที่อยู่อาศัยพุ่งทะยานสูงขึ้น
ขณะที่ประเทศไทย การเติบโตของหนี้สินภาคครัวเรือนมีอัตราสูงกว่าการเติบโตของสินทรัพย์ โดยที่เงินฝากและสินทรัพย์ รวมถึงประกันชีวิตและกองทุนบำเหน็จบำนาญเพิ่มขึ้นน้อยกว่าร้อยละ 2 และสินทรัพย์ในหลักทรัพย์ลดลงร้อยละ 10 เนื่องจากตลาดหุ้นไทยร่วงหนัก ทั้งนี้ ด้วยภาวะการเติบโตอย่างสม่ำเสมอของสินเชื่อ ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 45.1 เป็นร้อยละ 81.6 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยอัตราส่วนสินทรัพย์ต่อ GDP เปลี่ยนแปลงลดลง และปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 107.9 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 119.2 ณ สิ้นปี 2558 ส่งผลให้ภาคครัวเรือนไทยมีอัตราส่วนสินทรัพย์ต่อหนี้สินเลวร้ายที่สุดจากทุกประเทศในแถบเอเชียที่รายงานนี้ได้ทำการวิเคราะห์ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีสินทรัพย์ทางการเงินต่อหัวสุทธิอยู่ในอันดับที่ 45 ในการจัดอันดับโลก และอันดับที่ 8 ในการจัดอันดับเอเชีย
ทั้งนี้ สินทรัพย์ทางการเงินรวมต่อหัวของประเทศไทยคิดเป็นจำนวนเงิน 6,070 ยูโร (238,000 บาท) แต่หลังจากหักหนี้สินแล้ว สินทรัพย์ทางการเงินสุทธิของคนไทยเฉลี่ยหดตัวลงเหลือเพียง 1,920 ยูโร (75,000 บาท) จำนวนเงินนี้ลดต่ำลงในประเทศอินเดียและอินโดนีเซีย และเมื่อเปรียบเทียบกับประแทศที่มีสินทรัพย์สุทธิต่อหัวสูงเช่น ประเทศมาเลยเซีย ซึ่งถูกมองว่ากำลังจะเป็นประเทศที่ร่ำรวยในภูมิภาคนี้ ค่าเฉลี่ยของประเทศมาเลเซียตอนนี้คิดเป็น 4 เท่าของค่าเฉลี่ยสินทรัพย์สุทธิต่อหัวของคนไทย นั่นคือ 7,670 ยูโร (300,456 บาท) ขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นสินทรัพย์ทางการเงินสุทธิต่อหัวสูงถึง 83,890 ยูโร (3,286,215 บาท) ซึ่งมากกว่าของประเทศไทยถึง 43 เท่า ดังนั้น ภาคครัวเรือนไทยยังคงต้องพยายามที่จะลดภาระหนี้เพื่อช่วยฟื้นฟูสถานะทางการเงินให้ดีขึ้น
การกระจายความมั่งคั่งของโลกกำลังจะเท่าเทียมกันมากขึ้น
การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกทำให้ผู้คนจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะชนชั้นกลาง มีส่วนร่วมในการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ระดับความยากจนลดลงอย่างมีนัยสำคัญทั่วโลกในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ 5,000 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ ซึ่งรวมถึงประเทศที่เราได้ทำการสำรวจยังคงจัดอยู่ในระดับความมั่งคั่งต่ำ จะมีความมั่งคั่งลดลงเล็กน้อย แต่ในปัจจุบันคนกลุ่มนี้มีจำนวนคิดเป็นร้อยละ 69 ของประชากรทั้งหมด (เมื่อเทียบกับร้อยละ 80 ในปี 2543)
ทั้งนี้เป็นเพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีผู้คนจำนวนมากขึ้นรวมแล้วเกือบ 600 ล้านคนมีฐานะที่ดีขึ้น ชนชั้นกลางทั่วโลกได้ขยายตัวขึ้นอย่างมากเป็นผลให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจำนวนของชนชั้นกลางมีมากกว่าสองเท่า คือมากกว่า 1,000 ล้านคน ซึ่งทำให้สัดส่วนต่อประชากรโดยรวมสูงขึ้นจากร้อยละ 10 เป็นประมาณร้อยละ 20 อีกทั้งสัดส่วนของสินทรัพย์ทั่วโลกที่ถือครองโดยคนกลุ่มนี้ยังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ สูงขึ้นไปที่ร้อยละ 18 เมื่อสิ้นปี 2558 เกือบสามเท่าของตัวเลขในช่วงเริ่มต้นของสหัสวรรษ ดังนั้นชนชั้นกลางทั่วโลกไม่ใช่เพียงแต่ขยายตัวมากขึ้นในแง่ของจำนวน แต่ยังร่ำรวยมากขึ้นอีกด้วย
แม้ว่าในขณะนี้ จำนวนครัวเรือนของชนชั้นที่มีความมั่งคั่งสูงจะลดลง แต่จำนวนคนที่มีความมั่งคั่งสูงยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา โดย ณ สิ้นปี 2558 ประมาณ 540 ล้านคนทั่วโลกถูกจัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นที่มีความมั่งคั่งสูง เพิ่มขึ้นประมาณ 100 ล้านคน ซึ่งมากกว่าในปี 2543 ถึงร้อยละ 25 หมายความว่าชนชั้นที่มีความมั่งคั่งสูงจะมีความหลากหลายมากขึ้น เมื่อเทียบกับในอดีต ที่กระจุกอยู่เฉพาะในครอบครัวชาวยุโรปตะวันตก อเมริกาและญี่ปุ่น ใน
ปัจจุบัน มีชาวยุโรปตะวันตก อเมริกาและญี่ปุ่นที่อยู่ในชนชั้นที่มีความมั่งคั่งสูง เพียงร้อยละ 66 เมื่อเทียบกับร้อยละ 90 ในอดีต สรุปได้ว่า ส่วนแบ่งของสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกของชนชั้นที่มีความมั่งคั่งสูงนี้ได้ลดลง พัฒนาการนี้สะท้อนให้เห็นถึงการกระจายตัวของความมั่งคั่งในวงกว้างมากขึ้น อย่างน้อยในระดับโลก
“กล่าวโดยสรุป โลกเราขณะนี้ มีผู้คนจำนวนมากขึ้นที่มีส่วนร่วมในความมั่งคั่งเฉลี่ย ขณะเดียวกัน สินทรัพย์ของกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงยังคงเติบโตขึ้นและทิ้งห่างออกไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ประเด็นในเรื่องการกระจายรายได้นี้เป็นเรื่องซับซ้อนมาก ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นที่จะต้องมองให้ทะลุปรุโปร่งว่าประเทศของตนมีการกระจายรายได้อย่างไร เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าประเทศไหนจะอยู่ในสถานการณ์ใด โดยภาพรวมแล้ว นโยบายดอกเบี้ยติดลบ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดสำหรับการกระจายความมั่งคั่ง” ดร.ไฮส์ กล่าวทิ้งท้าย
อนึ่ง : อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 29 กันยายน 2259 1 ยูโร = 39.1729 บาท