30 กันยายน 2559 : ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกันภัยธุรกิจประกันภัย ครั้งที่ 10/2559 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2559 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการจัดทำแผนการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ฉบับที่ 2 ระหว่างปี 2560-2564 ซึ่งเป็นแผนต่อยอดจากแผนการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศฉบับที่ 1 (ปี 2556-2559) เพื่อรองรับพัฒนาการด้านการประกันภัยในยุคดิจิทัลและเพื่อเตรียมการให้สำนักงาน คปภ. เดินหน้าเข้าสู่การเป็นองค์กรกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยยุคดิจิทัล (Digital Insurance Regulator)
ทั้งนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมประกันภัยเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบกรมธรรม์ ช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ประกอบกับแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3 ของสำนักงานคปภ.ได้มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมประกันภัยให้ดำเนินธุรกิจแบบนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจ (Digital Business) และมาตรการในการเตรียมความพร้อมและสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันสู่การเปิดเสรีในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งยกระดับองค์กรให้เข้มแข็งตามมาตรฐานสากล ตลอดจนเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลในเรื่อง Thailand 4.0 ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพในทุกมิติ
เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงาน คปภ. และการวางแผนกำกับดูแลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของธุรกิจประกันภัยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นองค์กร Digital Insurance Regulator ตลอดจนการวางแผนด้านมาตรฐานการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมประกันภัยรองรับการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
สำหรับแนวทางและมาตรการขับเคลื่อต้องดำเนินการใน 3 ประการหลักๆคือ ประการแรก การสร้างระบบการบริหารจัดการภายใน (Digital Platform) เพื่อสร้างระบบวิเคราะห์และบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ (Digital Intelligent Data) ในการเปลี่ยนผ่านสู่องค์ปฏิบัติงานอัจฉริยะ (Smart Operations) โดยมีมาตรการขับเคลื่อนดังนี้ พัฒนาปรับปรุงแพลตฟอร์มการบริหารจัดการให้ครอบคลุมทุกภารกิจของสำนักงานคปภ.
(OIC Business Architecture) เพื่อรองรับการปฏิบัติงานอัจฉริยะ พัฒนาคุณภาพทักษะไอทีให้กับบุคลากรเพื่อสร้างทักษะในการใช้เทคโนโลยีช่วยในการพัฒนางาน (Digital Workforce) สร้างกระบวนการเฝ้าระวังและรับมือเพื่อป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์ให้อุตสาหกรรม รวมถึงส่งเสริมให้มีการพัฒนากรมธรรม์รองรับความเสียหายจากอาชญากรรมด้านภัยคุกคามด้านไซเบอร์ (Cyber Security Liability Insurance) เพื่อรองรับการบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากภัยคุกคามด้าน ไซเบอร์ของภาคธุรกิจ และส่งเสริมการลงทุนในทรัพยากรดิจิทัลในลักษณะบูรณาการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อลดภาระในการบริหารจัดการและรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตประการที่สอง การเสริมสร้างความรู้ในการใช้เทคโนโลยี (Digital Literacy) เพื่อเปลี่ยนผ่านเป็นการทำงานในยุคดิจิทัล (Digital Workforce) ภายใต้หลักการบูรณาการ
ข้อมูลข่าวสารขนาดใหญ่ (Data Integration) ประกอบไปด้วยมาตรการขับเคลื่อนดังนี้ พัฒนามาตรฐานการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงการเข้าถึงและจัดเก็บข้อมูลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกัน เตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากการบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและรูปแบบการดำเนินธุรกิจประกันภัยแบบใหม่
ประการที่สาม การส่งเสริมให้เกิดการใช้ข้อมูลข่าวสารให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Digital Efficiency) เพื่อเปลี่ยนผ่านการทำงานไปสู่การให้บริการเชิงรุกให้กับประชาชน โดยมีมาตรการขับเคลื่อนดังนี้ให้บริการระบบเพื่อเข้าถึงบริการข้อมูลประกันภัย อันช่วยสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาแนวทางคุ้มครองข้อมูลและสิทธิส่วนบุคคลของผู้รับบริการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสร้างความเชื่อมั่น พัฒนามาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูลสู่ภาครัฐและภาคประชาชน (Open Government Data) เพื่อรองรับการส่งเสริมนวัตกรรมและสนับสนุนการสร้างความร่วมมือระหว่างงานรัฐ
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่าในการขับเคลื่อนให้สำนักงานคปภ.ให้เป็นองค์กร Digital Insurance Regulator จะมีกรอบการทำงานดังนี้ ขั้นตอนแรกสำนักงาน คปภ. จะไปจัดทำแผนการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ฉบับที่ 2 ตามกรอบแนวทางที่บอร์ดคปภ.ให้ความเห็นชอบ โดยจะแบ่งการดำเนินการเป็นระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งสามารถทำควบคู่กัน
โดยระยะสั้นต้องมีการลงทุนในทรัพยากรดิจิทัล เพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกันและเพื่อเป็นการลดต้นทุนในการบริหารจัดการข้อมูลต่างๆ รวมทั้งพัฒนาระบบฐานข้อมูลประกันภัยและมีการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับธุรกิจประกันภัยในด้านการปฏิบัติงานที่มีความปลอดภัยตามแนวทางของ ISO 27001 และพ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ
ส่วนการดำเนินงานในระยะยาว พัฒนาระบบสำคัญในการให้ภาคธุรกิจยื่นขออนุมัติ/อนุญาตต่อสำนักงานคปภ.ได้สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ พัฒนากระบวนการคุ้มครองสิทธิแบบครบวงจร โดยสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ด้านคุ้มครองสิทธิได้ทันท่วงที ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารได้โดยตรง รวมทั้งมีการพัฒนามาตรฐานชุดข้อมูลเพื่อบริการสู่ภาครัฐและภาคประชาชนเพื่อเสริมสร้างให้เกิดนวัตกรรมตามนโยบาย Thailand 4.0 สร้างระบบให้ประชาชนเข้าถึงรูปแบบกรมธรรม์ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์อีกด้วย