19 เมษายน 2564 : นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า ภายใต้โจทย์ในการดำเนินธุรกิจที่มีปัจจัยท้าทายรอบด้านกลุ่มทิสโก้ยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 1/2564 จำนวน 1,764 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.7% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าสาเหตุหลักมาจากการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจตลาดทุนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการนำเสนอขายกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น และดีลการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ครั้งแรก (IPO)รวมถึงทิสโก้มีกำไรพิเศษจากมูลค่าเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ในไตรมาสที่ผ่านมาการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตของทิสโก้ปรับตัวลดลงตามคุณภาพสินทรัพย์ที่สามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยระดับ NPL ที่ทรงตัวที่ 2.5% รวมทั้งบริษัทได้กันสำรองครอบคลุมความเสี่ยงด้านเครดิตไว้ล่วงหน้าแล้วทำให้ระดับเงินสำรองต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูง และแม้ว่าการปล่อยสินเชื่อจะยังไม่กลับสู่การเติบโตแต่ถือเป็นไปตามนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังของบริษัท
“ธุรกิจเสาหลักของทิสโก้ประกอบด้วย3 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจ Wealth Management ธุรกิจ Retail Banking และธุรกิจ CorporateBanking โดยทุกกลุ่มอยู่ภายใต้การสนับสนุนของบริษัทแม่และแต่ละกลุ่มมีส่วนส่งเสริมซึ่งกันและกัน ขณะที่ความเสี่ยงกระจายตัวแยกกันชัดเจนจึงช่วยรักษาสมดุลด้านรายได้และทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่องขณะที่กลยุทธ์การทำงานภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางกลุ่มทิสโก้จะให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและควบคุมความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพเลือกทำในสิ่งที่ชำนาญ รวมถึงแสวงหาโอกาสใหม่ๆ จากความชำนาญนี้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า พร้อมปรับกระบวนการในการดำเนินการโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นตัวช่วยในการต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการที่จะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าและเพื่อให้ธุรกิจผ่านพ้นวิกฤตและเติบโตได้อย่างยั่งยืน”
สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้สำหรับไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,764 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563 จากรายได้จากธุรกิจหลักที่ปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจตลาดทุน และการรับรู้รายได้พิเศษจากเงินลงทุนประกอบกับการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่ลดลง
โดยรายได้รวมเพิ่มขึ้น 3.9% สาเหตุหลักมาจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยทั้งรายได้ค่าธรรมเนียม จากธุรกิจจัดการกองทุนที่เติบโต 47.0% จากการออกขายกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนประกอบกับรายได้จากธุรกิจหลักทรัพย์และวาณิชธนกิจที่ขยายตัว 48.1% จากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นและการเป็นหนึ่งในผู้นำในการจัดจำหน่ายและการรับประกันการจำหน่วยหุ้นเป็นครั้งแรก(IPO) ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)หรือ OR นอกจากนี้ยังมีการรับรู้กำไรพิเศษจากมูลค่าเงินลงทุนรวมถึงยังมีการรับรู้กำไรพิเศษจากมูลค่าเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 313ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ยังคงอ่อนตัวสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับเมื่อไตรมาส 1 ของปีก่อนสำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับลดลง 10.1% จากพอร์ตสินเชื่อที่ชะลอตัวค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 3.5% ตามทิศทางการฟื้นตัวของรายได้ส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) อยู่ที่ 1.5% ของสินเชื่อลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าตามคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ ในขณะที่บริษัทยังคงดำเนินนโยบายการตั้งสำรองอย่างระมัดระวังเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) ยังคงอยู่ในระดับสูงที่17.5%
สำหรับเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 มีจำนวน220,757 ล้านบาท ลดลง 1.8% จากสิ้นปีก่อนหน้าจากการชะลอตัวของสินเชื่อรายย่อยตามการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังในภาวะความเสี่ยงที่สูงขึ้นในขณะที่สินเชื่อธุรกิจยังคงเติบโตได้ดีท่ามกลางภาวะที่การระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ไม่เอื้ออำนวยในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ทรงตัวอยู่ที่ 2.5%จากมาตรการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพส่งผลให้บริษัทมีระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (CoverageRatio) อยู่ที่ 222% ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2564
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งโดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 23.0% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 18.3% และ 4.7% ตามลำดับ