WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
ธปท.ร่วมลงนามMOUกับสำนักอัยการสูงสุด เพื่อช่วยเหลือปัญหาหนี้สินของประชาชนอย่างครบวงจร

9 เมษายน 2564 : นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ธปท. ร่วมมือกับสำนักงานอัยการสูงสุดที่เป็นอีกเสาหลักในกระบวนการยุติธรรม โดยมีนายประสิทธิ์ ศิริภากรณ์ รองอัยการสูงสุด ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการอบรมและเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายและความรู้ด้านการเงินเพื่อใช้ในการไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท (MOU) ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย

นายเศรษฐพุฒิ เปิดเผยว่า ธปท. และสำนักงานอัยการสูงสุด มีเป้าหมายร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน สร้างความเป็นธรรมในสังคม และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างยั่งยืนและครบวงจร อันสอดคล้องกับภารกิจของสำนักงานอัยการสูงสุดด้านการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนผ่านการให้คำปรึกษา โดยผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการเงินด้วย

โดย ธปท. จะร่วมส่งเสริมความรู้ความเชี่ยวชาญทางการเงินแก่พนักงานอัยการของสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดที่ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยและเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางกฎหมายให้กับลูกหนี้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดต่อมาที่สายด่วน 1157 เพื่อขอรับคำปรึกษาข้อกฎหมาย หรือติดต่อที่สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิฯ จำนวน 112 แห่ง ทั่วประเทศ

ธปท. เห็นถึงความสำคัญของการใช้เครื่องมือทางกฎหมายในการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนได้อย่างยั่งยืน และเชื่อว่าความร่วมมือกับองค์กรที่สำคัญในกระบวนการยุติธรรม เพื่อใช้ความชำนาญทางกฎหมายผนวกกับ ความเชี่ยวชาญทางการเงินจะช่วยให้กลไกการไกล่เกลี่ยเพื่อระงับข้อพิพาทมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่ผ่านมา ธปท. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรมแล้ว โดยร่วมกันปรับปรุงและยกระดับกลไกการไกล่เกลี่ยอย่างจริงจัง อาทิ กำหนดมาตรฐานกลางสำหรับการไกล่เกลี่ยคดีผู้บริโภคที่เป็นธรรมขึ้นเพื่อให้ลูกหนี้สามารถปฏิบัติได้ตามข้อตกกลงหรือชำระหนี้ได้ และสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่เกิดจากความร่วมมือดังกล่าวที่ได้ดำเนินการแล้ว ได้แก่ งานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีประชาชนเข้ามาใช้ช่องทางดังกล่าวเป็นจำนวนมาก 

ในปี 2564 ธปท. และพันธมิตรในภาคส่วนต่าง ๆ ได้ตั้งเป้าจะลดปริมาณคดีทางการเงินที่จะเข้าสู่ศาลด้วยการไกล่เกลี่ยได้ไม่ต่ำกว่า 3 แสนคดี คิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนคดีแพ่ง เพราะการฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นภาระทั้งต่อตัวลูกหนี้และเจ้าหนี้ เป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสที่ระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศต้องแบกรับ ซึ่งรายงานของธนาคารโลกระบุว่าการดำเนินคดีแพ่งในไทยมีค่าใช้จ่ายคิดเป็นร้อยละ 16.9 ของทุนทรัพย์ ที่สำคัญแต่ละปีมีคดีเข้าสู่กระบวนการศาลเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2562 มีเกือบ 1.9 ล้านคดี และเป็นคดีแพ่งถึง 1.2 ล้านคดี

นอกจากนี้ ข่าวดีสำหรับลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต คือจะมีการต่ออายุโครงการ "มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรและสินเชื่อส่วนบุคคล" ที่ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ถึง 14 เมษายน 2564 ออกไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 และ ธปท. กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการหารือเพื่อสร้างมาตรฐานกลางในคดีผู้บริโภคประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ คดีเช่าซื้อ และกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พร้อมเตรียมการไกล่เกลี่ยหนี้รายสถาบันอีกด้วย

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ ธปท. ได้จับมือกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมครบทั้ง 3 เสาหลัก ในการ "สร้างวัฒนธรรมไกล่เกลี่ยในระบบการเงินของไทย" ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับภาคประชาชน และช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีความพร้อมสำหรับการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนได้ในระยะต่อไป

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP