7 เมษายน 2564 : นายเพา จาตกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจบริหารเงิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2563 ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มีมูลค่าการค้าตราสารหนี้ทุกประเภทรวมกันทั้งสิ้นสูงถึง 1 ล้านล้านบาท (Bond Trading Value) ครองอันดับ 1 ขึ้นเป็นผู้นำตลาดหุ้นกู้ โดยในปี 2563 กลุ่มซีไอเอ็มบี ไทย มีมูลค่าขายหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่ารวม 17,707 ล้านบาท มียอดธุรกรรมซื้อขายหุ้นกู้ตลาดรองให้แก่ลูกค้าส่วนบุคคลเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่ารวม 10,427 ล้านบาท และมียอดจัดจำหน่ายหุ้นกู้ภาคเอกชนตลาดแรกเป็นอันดับ 3 ด้วยมูลค่ารวม 96,272 ล้านบาท
ปี 2564 ธนาคารในฐานะผู้ออกหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง และตัวแทนจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ และหลักทรัพย์ต่างประเทศ เตรียมผลิตภัณฑ์ออกมารองรับหุ้นกู้ในประเทศที่จะครบกำหนดอายุสูงถึง 7.4 แสนล้านบาท ในปีนี้ ผลิตภัณฑ์ของธนาคารที่ลูกค้าให้การตอบรับและเป็นที่นิยม ได้แก่ หุ้นกู้อนุพันธ์ Maxi Return หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งธนาคารรับซื้อขายก่อนครบกำหนดอีกด้วย ขึ้นกับเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์ โดยมียอดซื้อขายหุ้นกู้ในตลาดรองเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้
ซีไอเอ็มบี ไทยถือเป็นผู้เล่นหลักที่สร้างสภาพคล่องในการลงทุนตราสารประเภทต่างๆ ทั้งพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ตราสารอนุพันธ์ และ หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในพอร์ตการลงทุนของลูกค้า และที่ผ่านมาได้สร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ Wealth Management ด้วยการคิดค้น สร้างสรรค์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หลากหลาย จนได้รับการยอมรับเป็นที่จดจำในตลาด
“ธนาคารเลือกลงทุนในการพัฒนาจุดแข็งในสนามที่มีผู้เล่นไม่มาก สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด พัฒนาธุรกิจบริหารเงินให้มีขีดความสามารถทัดเทียมกับสถาบันการเงินในต่างประเทศ บริหารจัดสรรสภาพคล่องของธนาคารให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อส่งต่อประโยชน์ในมิติของการให้บริการลูกค้า ทำหน้าที่เป็นคู่สัญญาให้บริการป้องกันความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาสินทรัพย์ในตลาดเงิน เช่น อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ราคาหลักทรัพย์และสินค้าโภคภัณฑ์
สถานการณ์ที่เป็นบทพิสูจน์ คือการที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 เมื่อปี 2563 แต่ธนาคารยังคงได้การตอบรับที่ดีในการได้เป็นที่ปรึกษาการลงทุน เราเลือกทำในสิ่งที่ยากเป็นคนแรกๆ เพราะความท้าทายทำให้เราต้องพัฒนาอยู่เสมอ และเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ในประเทศไทย” นายเพา กล่าว
นายตัน คีท จิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยในฐานะผู้นำทัพด้านการขายว่า การลงทุนในต่างประเทศเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากในสภาพตลาดช่วงนี้ ธนาคารจึงเตรียมเสนอขายหุ้นกู้ต่างประเทศที่มีอนุพันธ์แฝงอ้างอิงกับราคาหุ้นต่างประเทศ เช่น ราคาหุ้นในตลาด NASDAQ หรือ NYSE หลังจากผลตอบรับการจองซื้อหุ้นกู้ที่ดีมาก ธนาคารได้เพิ่มบริการซื้อขายหุ้นกู้ผ่านแอป CIMB Thai Digital Banking ให้ผู้ที่สนใจเลือกลงทุนจากที่ไหนก็ได้ สมัครง่าย ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เพิ่มเติมจากช่องทางสาขาแบงก์
สำหรับลูกค้า CIMB Preferred สะดวกสบายอีกขั้นด้วยการรับคำปรึกษาด้านการลงทุนผ่าน Preferred Relationship Manager (RM) เพื่อรับคำปรึกษาโดยตรงและลงลึกเรื่องลงทุนกับ Treasury Specialist และ Wealth Advisory Team จากสถิติที่ธนาคารให้คำปรึกษาด้านการลงทุนพบว่า ลูกค้าสามารถรับโอกาสผลตอบแทนจากหุ้นกู้อยู่ในช่วงระหว่าง 1.60% – 25.00% ต่อปี ขึ้นกับเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ธนาคารยังให้บริการ Wealth Credit Line (WCL) โดยลูกค้าสามารถนำหุ้นกู้ พันธบัตรและตราสารทางการเงิน มาวางเป็นหลักประกันเพื่อขอใช้สินเชื่อเพื่อนำเงินไปลงทุนต่อได้
นายภูดินันท์ เศรษฐนันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจผลิตภัณฑ์การเงิน และ Preferred Banking Management Head ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารเชื่อว่าลูกค้าแต่ละรายมีเอกลักษณ์ในวิธีคิด และแบบฉบับในการคัดสรรรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เป็นตัวของตัวเอง รวมทั้งความต้องการที่แตกต่างกันจึงต้องเริ่มต้นในการทำความเข้าใจกับความต้องการและเป้าหมายในการลงทุนของลูกค้าเป็นอันดับแรก การให้คำปรึกษาด้านการลงทุนจึงต้องตอบโจทย์ลูกค้าในหลายๆ มิติทั้งความต้องการและความชอบส่วนบุคคล เอาใจใส่และดูแลผลประโยชน์ให้ลูกค้าเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน มากกว่ามุ่งหวังสร้างกำไรให้ธนาคารเพียงอย่างเดียว
ด้วยขนาดของ AUM ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทางธนาคารได้เตรียมความพร้อมด้านระบบต่างๆ และยังคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อสร้างโอกาสเพิ่มผลตอบแทน และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเลิศกับลูกค้าที่วางใจใช้บริการ อีกทั้ง ธนาคารพร้อมต้อนรับบุคคลากรดีๆที่จะมาร่วมสร้างสรรค์การลงทุนที่ดีให้กับลูกค้าของเรา