5 เมษายน 2564 : กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.10-31.50 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 31.27 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 31.15-31.40 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างสัปดาห์เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 เดือน เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับยูโรและเยน
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯสดใสเกินคาด อีกทั้งการกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วในสหรัฐฯและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ช่วยสนับสนุนมุมมองของตลาดที่ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯดำเนินไปอย่างแข็งแกร่ง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯประเภทอายุ 10 ปีแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน กระตุ้นแรงขายเงินเยนสู่จุดอ่อนค่าสุดในรอบ 1 ปี ขณะที่ในเดือนมีนาคมและไตรมาสแรกของปีเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงมากที่สุดในกลุ่มสกุลเงินภูมิภาค ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยมูลค่า 3,194 ล้านบาท และ 3,949 ล้านบาท ตามลำดับ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ปัจจัยที่จะส่งผลต่อทิศทางค่าเงินบาทของสัปดาห์นี้ คือ ดัชนีภาคบริการของสหรัฐฯ บันทึกการประชุมเมื่อวันที่ 16-17 มีนาคม ของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว หลังประธานาธิบดี โจ ไบเดนเปิดเผยแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาด 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ซึ่งครอบคลุมการปรับขึ้นอัตราภาษีนิติบุคคล โดยทำเนียบขาวระบุว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถหาแหล่งเงินทุนรองรับได้ภายใน 15 ปี
อนึ่ง แม้การขาดดุลแฝดของสหรัฐฯเป็นประเด็นเชิงโครงสร้างที่มีแนวโน้มย่ำแย่ลงในระยะยาว แต่ปัจจัยเชิงวัฎจักรยังเอื้อให้นักลงทุนเข้าถือครองดอลลาร์ในช่วงแรกของไตรมาสนี้ สะท้อนจากข้อมูลจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมีนาคมของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นถึง 916,000 ตำแหน่ง ขณะที่ตลาดยังคงกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในยุโรป
สำหรับปัจจัยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะรายงานดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมีนาคม ซึ่งคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำโดยส่วนหนึ่งสะท้อนผลของมาตรการลดค่าสาธารณูปโภค อย่างไรก็ดี คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นในระยะถัดไปจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำของต้นทุนพลังงาน แต่แรงกดดันจากด้านอุปสงค์ยังอ่อนแอตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ด้านธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ทั่วถึงและต้องพึ่งพาแรงกระตุ้นจากภาครัฐ
โดยธปท. ประเมินว่าในช่วงครึ่งหลังของปีการฟื้นตัวจะดีขึ้นต่อเนื่องตามการทยอยเปิดประเทศ ขณะที่ยังคงต้องจับตาดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ใจกลางกรุงเทพฯก่อนเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังคงจำกัดการฟื้นตัวของค่าเงินบาทในระยะนี้