31 มีนาคม 2564 : ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การบูรณาการส่งเสริมความรู้และสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย ระหว่าง สำนักงาน คปภ. ภาค 2 ภาค 4 และ ภาค 7 สำนักงาน คปภ. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง จังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรี และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง จังหวัดชัยนาท จังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรี
พร้อมเป็นประธานเปิดการเสวนาเรื่อง “คปภ. ห่วงใย สร้างเกราะประกันภัยให้ SMEs” ณ โรงแรมคลาสสิค คามิโอ อยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ และสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยเชิงรุกให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ หรือ SMEs ใช้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของธุรกิจของตนเองหรือบุคคล ซึ่ง SMEs เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่มีความสำคัญในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมของประเทศ
โดยมีนายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ คปภ. สายกฎหมายและคดี นางสาวสุภัทรา ดวงงา เจ้าของร้านชาบูอินดี้ และนายเชิดชัย อนุสนธิ์พัฒน์ เจ้าของห้างทองเยาวราชอยุธยา (1999) ร่วมเสวนา และมีนางสาวณิชชา ฉัตรไชยเดช เป็นพิธีกร ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ มีผู้ประกอบการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมงาน จำนวน 100 คน โดยได้รับเกียรติจากนายพรพจน์ บัณฑิตยานุรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับและได้กล่าวขอบคุณ สำนักงาน คปภ. ที่เลือกจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่เป้าหมายในการให้ความรู้ด้านการประกันภัยและลงพื้นที่รับฟังข้อมูลจาก SMEs โดยตรง
อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารจัดการความเสี่ยงภัยให้ SMEs ในพื้นที่ ดังนั้น เวทีการเสวนาในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญและมีคุณค่ายิ่ง ที่เลขาธิการฯ นำทีมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน คปภ. ลงพื้นที่ด้วยตัวเอง พร้อมทั้ง ขอให้ SMEs เร่งนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงภัย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและเพิ่มความมั่นคงให้กับธุรกิจของตนเองยิ่งขึ้น
เลขาธิการ คปภ. กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดเสวนา ในตอนหนึ่งว่า สำนักงาน คปภ. มีความมุ่งมั่นในการให้ความรู้ด้านการประกันภัยกับ SMEs มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2564 เป็นการลงพื้นที่ครั้งแรก ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่เริ่มคลี่คลาย โดยสำนักงาน คปภ. พร้อมส่งเสริมและขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจประกันภัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของ SMEs ในรูปแบบของกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs Package
ซึ่งเป็นกรมธรรม์ที่รวมความคุ้มครองหลักที่ครบวงจรและหลากหลาย ซึ่งจะช่วย SMEs ลดภาระค่าใช้จ่ายในหลายมิติ อาทิเช่น การประกันอัคคีภัย ให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินเมื่อสถานประกอบการเกิดเหตุเพลิงไหม้ ภัยพิบัติ น้ำท่วม นอกจากค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมตัวอาคารและปรับปรุงภายในอาคารแล้ว มีการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก จะให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากกรณีที่ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ตามระยะเวลาและรายได้ที่ขาดหายไปในระหว่างที่กำลังซ่อมแซม
การประกันภัยโจรกรรม การประกันภัยสำหรับเงินภายในสถานที่เอาประกันภัย การประกันภัยสำหรับกระจก ให้ความคุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินดังกล่าว การประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ให้ความคุ้มครองกรณีที่ผู้ประกอบการ มีความรับผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลอื่น และการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ให้ความคุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และอนามัย เนื่องจากอุบัติเหตุ เป็นต้น
กรมธรรม์ดังกล่าวที่ SMEs ทำไว้จะเข้ามาบริหารจัดการความเสี่ยงในจุดนี้ทันที นอกจากนี้ ยังมีกรมธรรม์อีกประเภทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการในยุคปัจจุบันอย่างมาก คือ ประกันภัยไซเบอร์เชิงพาณิชย์ เป็นประกันภัยความเสี่ยงที่ธุรกิจ องค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ อาจเกิดความสูญเสียหรือความเสียหายขึ้นจากการถูกโจรกรรมหรือกรรโชกทรัพย์หรือคุกคามหรือละเมิดด้านความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการทำประกันภัย คือ SMEs จะต้องมีความเข้าใจว่าธุรกิจของตนเองมีความเสี่ยงในเรื่องใดบ้าง เพื่อที่จะสามารถเลือกการประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงภัยที่ธุรกิจของตนที่จะต้องเผชิญ
นอกจากนี้ นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่สำนักงาน คปภ. ภาค สำนักงาน คปภ. จังหวัด และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย หลายจังหวัด ทำ MOU เพื่อบูรณการความร่วมมือสร้างวัคซีนให้กับระบบเศรษฐกิจในระดับพื้นที่
เลขาธิการ คปภ. กล่าวอีกว่า ก่อนถึงวันจัดงานเสวนา 1 วัน ตนและคณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. ได้ลงพื้นที่สำรวจ SMEs แหล่งท่องเที่ยว และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พบว่า เริ่มมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเมืองกรุงเก่าแบบไปเช้า-เย็นกลับ เพื่อชมโบราณสถาน ชิมของอร่อย กันคึกคักขึ้น ส่งผลทำให้ SMEs ในพื้นที่เริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ด้วยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเมืองหลวงเก่าแก่ของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม ความรุ่งเรืองของอดีตที่ยิ่งใหญ่ของเมืองและเรียงรายด้วยวัดวาอารามที่ศักดิ์สิทธิ์ ศิลปวัฒนธรรม ขนบประเพณีที่เป็นรากเหง้ามาจากกรุงเก่า ตลอดจน ความงดงามทั้งด้านบรรยากาศและโบราณสถานที่โอบล้อมด้วยลำน้ำที่สดชื่นรอบริมฝั่ง และการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย พอเพียง จึงทำให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กลายเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่น่าสัมผัสเสน่ห์กลิ่นอาย
ซึ่งในแต่ละปีจังหวัดได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีการประกอบธุรกิจ SMEs ในพื้นที่อย่างหลากหลาย เช่น ธุรกิจแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน ร้านอาหาร ร้านขนมของฝาก ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก เป็นต้น การประกอบอาชีพของประชาชนมีการทำเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็น ข้าวนาปี มันสำปะหลัง อ้อย มะม่วง และทำปศุสัตว์ โดยมีสัตว์เศรษฐกิจ เช่น ไก่ สุกร โค และสัตว์น้ำจืด เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน คปภ. จึงเล็งเห็นความสำคัญในการนำระบบประกันภัยเข้ามาเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยเหลือ SMEs เกษตรกร รวมถึงประชาชนทั่วไป บริหารความเสี่ยงภัยหากเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจ
ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างความรู้และความเข้าใจที่ดีของ SMEs ในมุมมองของการทำประกันภัย เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประกันภัยว่ามีทั้งประเภทที่กฎหมายบังคับให้ต้องทำ และประเภทสมัครใจ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้เหมาะสมกับความเสี่ยง รวมถึงความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขต่าง ๆ ของกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อเป็นการยกระดับการประกอบธุรกิจให้มีความมั่นคง ยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งสำนักงาน คปภ. มีความพร้อมที่นำระบบประกันภัยมาสร้างเกราะคุ้มกันให้กับผู้ประกอบการและประชาชน
“การประกันภัยเป็นเรื่องใกล้ตัว และแทรกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบอาชีพ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่มีสายป่านไม่ยาวมาก หากเลือกใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำนักงาน คปภ. มีภารกิจสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย ตลอดจนช่วยให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้ ในขณะเดียวกันถ้าหากทำประกันภัยแล้วไม่ได้รับความเป็นธรรม
สำนักงาน คปภ. ก็มีหน่วยงานคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย โดยมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทั้งที่สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก และสำนักงาน คปภ. ภาค ( 9 ภาค)/จังหวัด (69 จังหวัดทั่วประเทศ) โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลด้านประกันภัยเพิ่มเติม ได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย