31 มีนาคม 2564 : นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึง เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทยอยปรับดีขึ้น หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง โดยการบริโภคภาคเอกชนทยอยฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น และได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้นตามการนำเข้าสินค้าทุนที่ปรับดีขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำยังขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานต่ำในปีก่อน อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้น จากมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นกว่าเดือนก่อน รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมี ดังนี้
1. การบริโภคภาคเอกชนหดตัวน้อยลงจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการฟื้นตัวในทุกหมวดการใช้จ่าย โดยเฉพาะหมวดสินค้าไม่คงทน เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคตามสถานการณ์แพร่ระบาดที่คลี่คลาย ประกอบกับภาคครัวเรือนได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ส่งผลให้การบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมทยอยปรับดีขึ้น
2. การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้น จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เร่งขึ้นจากการนำเข้าสินค้าทุน สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ดีขึ้นและการส่งออกที่อยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างหดตัวสูงขึ้นตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่กลับมาหดตัว สะท้อนกิจกรรมในภาคก่อสร้างที่ยังอ่อนแอ
3. มูลค่าการส่งออกสินค้าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยหากไม่รวมหมวดทองคำซึ่งยังหดตัวสูงจากผลของฐานสูงในปีก่อน มูลค่าการส่งออกจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.0 ตามการส่งออกในหลายหมวดสินค้าที่ฟื้นตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับอุปสงค์ประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังได้รับผลดีจากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น
ขณะที่การส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันกลับมาขยายตัวได้จากทั้งด้านราคาและปริมาณ ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงตามการผลิตหมวดชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับหมวดยานยนต์กลับมาขยายตัวจากผลของฐานต่ำในปีก่อน
4. มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวสูงที่ร้อยละ 23.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวร้อยละ 6.9 ในเดือนก่อน โดยเป็นการขยายตัวสูงในทุกหมวด จาก 1) ผลของฐานต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนที่การนำเข้าลดลงมาก เพราะได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองของจีน และ 2) การนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง
5. การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่ขยายตัวสูงจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ประกาศใช้ล่าช้า ขณะที่รายจ่ายประจำขยายตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ หดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทยยังมีไม่มาก
6. ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้น ตามอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงในทุกหมวดหลัก โดยเป็นผลจากมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาเพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชนเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง สะท้อนจากสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมต่อผู้ประกันตนทั้งหมดที่ยังเพิ่มขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นกว่าเดือนก่อน