29 มีนาคม 2564 : แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ส่งสัญญาณการฟื้นตัวดีกว่าที่เคย ประเมินจากปัจจัยความคืบหน้าของการกระจายวัคซีน และการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19
สถานการณ์การส่งออกในช่วงเดือนที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไร ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ระบุว่า จากปัจจัยความคืบหน้าของการกระจายวัคซีนและการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งออกของไทยจึงได้รับอานิสงส์ไปด้วย โดยในเดือนก.พ.2564 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวสนับสนุนให้ตัวเลขการส่งออกไทยหลังหักทองคำของไทยในเดือนก.พ.2564 สามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมตัวเลขการส่งออกหดตัวลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.59 แต่มูลค่าการส่งออกยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยการส่งออกเดือนก.พ. 5 ปีย้อนหลัง โดยสินค้าเกษตรฯและอุตสาหกรรมเกษตรในเดือนก.พ.ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 6.99 ซึ่งสินค้าที่ขยายตัวได้ดีส่วนใหญ่ยังเป็นสินค้าชนิดเดียวกับในเดือนก่อน สินค้าอุตสาหกรรมในเดือนก.พ.พลิกกลับมาหดตัวที่ร้อยละ 4.02 YoY แม้ว่าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องคอมพิวเตอร์ยังสามารถขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง แต่การส่งออกและราคาทองคำที่ลดลง (หดตัวร้อยละ 93.0 YoY) กดดันให้สินค้าอุตสาหกรรมในภาพรวมหดตัวลง
"การส่งออกไทยในเดือนก.พ. 2564 มีสัญญาณที่ดีขึ้นจากเดือนก่อน ได้รับปัจจัยหนุนหลักจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯ เมื่อมองไปในระยะข้างหน้าพบว่าการส่งออกไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการส่งออกไทยในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 4.5 โดยปรับเพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่ร้อยละ 3.0"
อย่างไรก็ตาม ทิศทางการส่งออกของไทยยังคงเผชิญความไม่แน่นอนอีกหลายด้าน ทั้งในเรื่องการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามในบางประเทศ ความเสี่ยงในเรื่องของการขาดแคลนตู้สินค้า และค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มที่สูงขึ้นยังคงมีอยู่ และปัจจัยเรื่องเรือขนส่งสินค้าติดขวางในคลองสุเอช ประเทศอียิปต์ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งทางน้ำที่ใหญ่เป็นระดับโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองการส่งออกในไตรมาส 1/64 อาจจะไม่ขยายตัวเป็นบวกโดยจะเริ่มเห็นการขยายตัวเป็นบวกในไตรมาส 2 เป็นต้นไป
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เคทีซิมิโก้ จำกัด ระบุว่า ฝ่ายกลยุทธ์คงมุมมองเชิงบวกต่อภาคการค้าของไทย ว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะช่วง 2H21E เนื่องจากการเริ่มเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นรอบใหม่ของเศรษฐกิจโลก หลังจากมีความคืบหน้าในการผลิตและกระจายวัคซีนต้าน COVID-19 หลายประเทศทั่วโลก ส่งผลบวกต่อหุ้นอิงวัฏจักรเศรษฐกิจโลก เราแนะนำซื้อกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (KCE HANA) กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ (AH SAT) กลุ่มขนส่งทางเรือ (PSL RCL WICE JWD) กลุ่มส่งออกอาหาร (CPF TU)
ทั้งนี้ ส่งออกเดือน ก.พ. 2021 พลิกกลับมาหดตัวอีกครั้ง โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทย ในเดือน ก.พ. 2021 โดยการส่งออก มีมูลค่า 20,219.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 2.59% YoY เป็นการกลับมาหดตัวอีกครั้ง หลังจากเพิ่งขยายตัวเป็นบวกได้ 2 เดือนแรกติดต่อกันก่อนหน้านี้ (เทียบกับเดือน ม.ค. 2021 +0.35% และเดือน ธ.ค. 2020 +4.71%) แต่ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจและเป็นสัญญาณดี เพราะมูลค่าเกิน 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 20,211.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 21.99% (เทียบกับเดือน ม.ค. 2021 -5.24%) ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 7.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เทียบกับเดือน ม.ค. 2021 ดุลการค้าขาดดุล 202.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
ทั้งนี้ การส่งออกเดือน ก.พ. 2021 ลดลง จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลง 4% โดยหดตัวอีกครั้งในรอบ 3 เดือน แต่ไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากยอดส่งออกที่ลดลง มาจากแรงฉุดของการส่งออกทองคำที่ลดลงถึง 93% สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยระยะต่อไป คาดว่าจะได้รับปัจจัยบวก จาก 1) การกระจายวัคซีนต้าน COVID-19 2) แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 3) ราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล และ 4) ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วง 1Q21
คาดส่งออกปี 2021 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าคาด ตามเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ฟื้นตัวได้เร็ว โดย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ระบุว่า คาดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีความแตกต่าง (Growth Differential) ในแต่ละภูมิภาคของประเทศคู่ค้าหลัก ส่งผลให้การส่งออกของไทยรายตลาดฟื้นตัวแตกต่างตามกันไปด้วย โดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่การส่งออกหดตัวต่อเนื่อง ตามทิศทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งอาจจะกระทบต่อสินค้าส่งออกที่พึ่งพาตลาดดังกล่าวเป็นหลัก สวนทางกับการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และจีน ที่การส่งออกยังคงขยายตัวได้ดี
อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาประเด็นค่าระวางเรือที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงต่อไป จากดีมานด์โลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ที่อาจส่งผลต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ ซึ่งจากรายงาน Ocean Market Freight Update เดือน มี.ค. 2021 ของ DHL เผยว่าความหนาแน่นและติดขัดที่ท่าเรือทั่วโลก รวมถึงความล่าช้าของเรือขนส่ง กดดันให้สถานการณ์ค่าระวางเรือยังทรงตัวในระดับสูงต่อไป ก็ส่งผลให้ผู้ให้บริการสายเรือเลือกที่จะตีเรือเปล่าไปยังท่าเรือที่จีน เพื่อกอบโกยรายได้ที่สูงเป็นประวัติการณ์ จากค่าระวางเรือที่ดีดตัวขึ้นถึง 3-5 เท่า
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นข้อจำกัดเรื่องความสามารถในการรองรับ (Capacity) และพื้นที่ (Space) บนเรือขนส่งสินค้า ซึ่งหากดีมานด์โลกยังคงเพิ่มขึ้น ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ก็จะยิ่งดึงให้อัตราค่าระวางเรือทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องตลอดปีนี้ และส่งผลให้ต้นทุนการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำได้รับผลกระทบอย่างมาก