27 มีนาคม 2564 : ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีรถตู้โดยสาร สายเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ทะเบียน 10-6908 เชียงใหม่ เฉี่ยวชนกับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทะเบียน ขก 6997 เชียงใหม่ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 11 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 นั้น
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดเชียงใหม่ ว่ารถตู้โดยสาร ทะเบียน 10-6908 เชียงใหม่ ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ 03559-63501/กธ/1791981 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 31 มีนาคม 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน
กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000 - 500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน และทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 3) ไว้กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 11700-63501/กธ/011714-33 เริ่มคุ้มครองวันที่ 31 มีนาคม 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564
โดยคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ของบุคคลภายนอก 300,000 บาทต่อคน 10,000,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 600,000 บาท คุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลกรณีสูญเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร (ผู้ขับขี่/ผู้โดยสาร 13 คน) 50,000 บาทต่อคน
ค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาทต่อคน ประกันตัวผู้ขับขี่ 200,000 บาท สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทะเบียน ขก 6997 เชียงใหม่ ไม่ได้จัดทำประกันภัยทั้งภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และภาคสมัครใจ ไว้แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเพิ่มเติม พบว่า ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ได้ทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ ดังนี้
1. นายจักรพงศ์ ต๋าใจ (ผู้เสียชีวิต) ได้ทำประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มสำหรับสถานศึกษา ไว้กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ผู้ถือกรมธรรม์ โรงเรียนฮอดพิทยาคม กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ 20501/POL/000215-570 เริ่มต้นคุ้มครอง 20 พฤษภาคม 2563 สิ้นสุดวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต 100,000 บาท
อีกทั้งยังทำประกันชีวิตแบบทรัพย์ปันผล (มีเงินปันผล) ไว้กับบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ 21541448 เริ่มสัญญาวันที่ 12 ตุลาคม 2550 ครบสัญญาวันที่ 12 ตุลาคม 2570 ทุนประกัน 50,000 บาท และสัญญาเพิ่มเติมกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพจากอุบัติเหตุ 50,000 บาท
2. นายวิเชียร การบูรณ์ (ผู้เสียชีวิต) ได้ทำประกันภัยอุบัติเหตุ โครงการเอื้ออารีสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ไว้กับบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ 20501/POL/031164-535 เริ่มต้นคุ้มครองวันที่ 2 ตุลาคม 2563 สิ้นสุดวันที่ 2 ตุลาคม 2564 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต 100,000 บาท
3. นายวิศรุต ปัญญาเหล็ก (ผู้บาดเจ็บ) ได้ทำประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม ไว้กับบริษัท ชับบ์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ 201-21-11-PA1-00032 ผู้ถือกรมธรรม์ บริษัท เพาเวอร์ เทคโนโลยี่ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด เริ่มคุ้มครองวันที่ 31 ธันวาคม 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยคุ้มครองกรณีเสียสูญชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตา การรับฟัง การพูดออกเสียง หรือทุพพลภาพถาวร 300,000 บาท
รวมถึงทำประกันชีวิตแบบทรัพย์ปันผล (มีเงินปันผล) ไว้กับบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 35547229 เริ่มสัญญาวันที่ 16 มกราคม 2556 ครบสัญญาวันที่ 16 มกราคม 2578 ทุนประกัน 100,000 บาท และสัญญาเพิ่มเติมกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพจากอุบัติเหตุ 200,000 บาท ค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากอุบัติเหตุ 10,000 บาทต่อครั้ง และค่ารักษาพยาบาลรายวัน วันละ 1,000 บาท ไม่เกิน 1,250 วัน
สำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต 4 ราย ซึ่งทั้งหมดนั่งรถยนต์ส่วนบุคคล โดยมี 2 ราย ได้ทำประกันภัยไว้ และผู้บาดเจ็บ 11 ราย ซึ่งเป็นผู้โดยสารรถตู้ ขณะนี้นอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจอมทอง 4 ราย โรงพยาบาลนครพิงค์ 1 ราย และอีก 6 ราย เดินทางกลับบ้านแล้วนั้น ได้สั่งการให้ประสานกับบริษัทประกันภัยดังกล่าว เพื่อเร่งจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับทายาทผู้เสียชีวิตโดยเร็ว และเข้าไปอำนวยความสะดวกและรับรองสิทธิค่ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลโดยตรง โดยผู้บาดเจ็บไม่ต้องสำรองจ่าย
ในเบื้องต้นจากกรณีเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ ครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินเยียวยาจากการประกันภัยอุบัติเหตุ การประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) และประกันชีวิตรวมถึงสัญญาเพิ่มเติมที่ได้ทำไว้ ในส่วนของผู้บาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 130,000 บาท จากการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) รายละไม่เกิน 80,000 บาทและการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ รายละไม่เกิน 50,000 บาท รวมถึงจากสัญญาเพิ่มเติมค่ารักษาพยาบาลที่ทำไว้
อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติม ตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้อีกด้วย
"สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและมีความห่วงใยต่อผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้ พร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและกับทุกคน จึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัย โดยเฉพาะการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัยสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ.1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย