25 มีนาคม 2564 : นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยหลังรับตำแหน่งประธานสมาพันธ์เอส เอ็มอีไทยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลให้ GDP SME ของ ประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ SME ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศเป็นอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้สมาพันธ์ SME ไทยในฐานะที่เป็นองค์กรตัวแทนภาคเอกชนของ SME ทั่วประเทศจึงต้องร่วมมือ กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างระบบนิเวศน์ธุรกิจเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฐานรากด้วยการขับเคลื่อนธุรกิจ SME ให้เติบโตภายใต้สโลแกน อยู่รอด อยู่เป็น อยู่เย็น และอยู่ยาว
“สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยได้นิยามคำว่า "อยู่รอด" หมายถึง การประคองธุรกิจให้สามารถอยู่ได้ในยุควิกฤต เศรษฐกิจแบบนี้โดยการช่วยเหลือให้เขาได้เข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือของรัฐและแนวทางต่างๆที่สมาพันธ์ จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อให้พ้นจากวิกฤตที่เกิดขึ้น
ส่วนคำว่า "อยู่เป็น" คือ สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาสร้างโอกาสใหม่ๆ ทาง ธุรกิจหรือเพื่อยกระดับขีดความสามารถให้สูงขึ้น และ "อยู่เย็น" คือการไม่ทำสิ่งใดเกินตัว พอประมาณ มีเหตุผล และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับธุรกิจโดยน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาล 9 มาใช้ดำเนินธุรกิจ
สุดท้ายคือ "อยู่ยาว" หมายถึงความสามารถในการพึ่งพาตนเอง โดยไม่ผิดต่อหลักจริยธรรมและคุณธรรม ที่ สำคัญต้องมีกัลยาณมิตรที่ดีมาเป็นที่ปรึกษาให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ซึ่งสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยพร้อมที่จะเคียงข้างผู้ประกอบการทุกท่าน”
ทว่าการจะบรรลุถึงขั้นอยู่ยาว จำเป็นต้องขับเคลื่อน 10 ภารกิจให้ประสบความสำเร็จซึ่งภารกิจ ดังกล่าวได้แบ่งเป็น 5 ด้านหลักคือ ด้านความรู้ ด้านทุน ด้านการตลาด ด้านเครือข่าย และด้านกระบอกเสียง mSMEs
สำหรับด้านแรกคือ ด้านความรู้ ซึ่งเราได้จะมุ่งเน้นการสร้างเครือข่าย SME สร้างสรรค์ และส่งเสริม SME ให้สร้างนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ สามารถเชื่อมโยงทุนนวัตกรรม SME หรืองานวิจัย เชิงพาณิชย์สู่ประโยชน์ของSME ซึ่งนี่คือภารกิจแรกจาก 10 ภารกิจหลัก
ส่วนด้านที่สองคือ ด้านทุนซึ่งมีหน้าที่ในการหาช่องทางแหล่งทุน SME ต้นทุนต่ำให้กับธุรกิจ SME ทำ Pre-Scoring ตรวจสอบสุขภาพธุรกิจ ประเมินขีดความสามารถทางธุรกิจ รวมไปถึงการให้ความรู้ใน เรื่องการจัดทำมาตรฐานบัญชีเดียว
ด้านที่สามคือเรื่องการตลาด ซึ่งมีสามภารกิจ สำคัญคือ ผลักดันแพลตฟอร์มออนไลน์ Star Market ที่ได้รับการสนับสนุนจากทางสสว.เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำสินค้าออกขายบนโลกออนไลน์
ภารกิจต่อมาคือของดี SME ไทย เป็นการค้นหาสินค้าและบริการ SME จากทั้ง 77จังหวัดเพื่อเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนสินค้าและบริการ SME ภารกิจสุดท้ายของกลุ่มนี้คือ SME Thai Awards เป็น การคัดสรรสินค้าดี และบริการ มีคุณภาพของแต่ละจังหวัดเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ เชิดชู ยกย่องผู้ประกอบการ Start up และ SME Thai ที่มีศักยภาพในการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้สอดคล้องกับตลาดซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดี
“นอกจากสามภารกิจนี้แล้วทางสมาพันธ์ยังได้ดำเนินการ 6 e ซึ่งเป็นการพัฒนานวัตกรรม 6 ด้าน ดังนี้ e-Member e-Wallet e-Payment e- Commerce e- Catalog e-Event เพื่อ สนับสนุนและส่งเสริมสมาชิกของเราที่มีนับแสนคนจากทั่วประเทศให้สามารถค้าขายบนโลกออนไลน์ได้ทั้ง ระบบ
ด้านที่สี่คือ ด้านเครือข่ายซึ่งมีภารกิจ สำคัญ 3 เรื่อง คือ Young SME Thai ซึ่งเป็นการสร้าง เครือข่ายร่วมกับมหาวิทยาลัย สถาบันวิทยาลัยชุมชน โรงเรียน กศน. เพื่อสร้างงานและส่งเสริมการสร้างผู้ประกอบการใหม่ ให้กับน้องๆที่ต้องการมีธุรกิจเป็นของตนเอง
ภารกิจเรื่องที่ 2 คือการขยายฐานสมาชิก ซึ่ง เป็นสิ่งสำคัญมากในการสร้างเครือข่ายลงในแต่ละอำเภอเพื่อที่จะส่งผ่านข่าวสาร ความช่วยเหลือไปยังผู้ประกอบการ SME ในแต่ละอำเภอซึ่งตอนนี้เราได้พัฒนาการรับสมัครสมาชิกโดยใช้ระบบ e-Member ซึ่งสะดวก รวดเร็วและไม่มีค่าใช้จ่าย ภารกิจเรื่องสุดท้ายในกลุ่มนี้คือ อาชีวะปลามังกร คือการพัฒนาน้อง อาชีวะซึ่งเป็นกำลัง สำคัญของประเทศในยุคปัจจุบันให้มีความเป็นนวัตกร ตามแนวทางที่ว่า นวัตกรอาชีวะสร้างเศรษฐกิจชาติ
ด้านสุดท้ายคือ กระบอกเสียง mSMEs ซึ่งภารกิจ สำคัญ 2 เรื่องคือ ทนายอาสา SME ซึ่งจะมีหน้าที่ ให้ความรู้ทางกฎหมายให้กับ SME เสนอแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อ SME ภารกิจที่สองคือ สร้างเครือข่ายสื่อมวลชน mSMEs เพราะ พี่น้องสื่อมวลชนคือองค์กร สำคัญที่จะเป็นกระบอกเสียงนำพาข่าวสาร ของ SME ไทยไปสู่หน่วยงานภาครัฐเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการแก้ไขปัญหาบนความเป็นจริง
“สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยยินดีที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย” นายแสงชัยกล่าวปิด