24 มีนาคม 2564 : นายทิตินันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงผลประชุม กนง. ว่าคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน
โดยเศรษฐกิจไทยมีแน้วโน้มขยายตัวร้อยละ 3.0 และ 4.7 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ ขยายตัวต่ำๆกว่าประมาณการเดิมบ้าง...ที่เคยตั้งไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 64 ส่วนปี 65 ตั้งไว้ขยายตัวร้อยละ 4.8 ปรับใหม่เป็นร้อยละ 4.7
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากความไม่แน่นอน ปัจจัยนักท่องเที่ยว ไม่กลับเข้ามา จึงทำให้ปีนี้คาดว่าจะมีประมาณ 3 ล้านคน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 5.5 ล้านคน
ปัจจัยที่ 2 คือ วัคซีน จะควบคุมเรื่อง โควิด-19 ได้หรือไม่ และ ปัจจัยที่ 3 ผลจากนโยบายการกระตุ้นของภาครัฐ ต้องมีความต่อเนื่อง เช่น โครงการ เรารักกัน เราชนะ หรือคนละครึ่ง เป็นต้น แต่ก็ยังมีความเปราะบางในบางจุด จากผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและธุรกิจ SMEs
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 256 และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการณ์ โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
สภาพคล่องโดยรวมอยู่ในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ แต่การะจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นตามฐานะทางการเงินที่เปราะบาง โดยเฉพาะธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือนที่ถูกกระทบเพิ่มขึ้นจากการระบาดระลอกใหม่ ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทยปรับสูงขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เคลื่อนไหวอ่อนค้าสอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดเงินการเงินและนัยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง
คณะกรรมการฯ เห็นว่า ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงาน มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่องและสนับสนุนให้เร่งดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ที่ออกมาเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้สามารถกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุด ลดภาระหนี้ และสนับสนุนเศรษฐกิจช่วงฟื้นฟูในอนาคต ควบคู่ไปกับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ขณะที่มาตรการทางการคลังต้องพยุงเศรษฐกิจโดยไม่ให้ขาดช่วง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังสามารถควบคุมการระบาดระลองใหม่ได้ ควบคู่ไปกับดำเนินนโยบายด้านอุปทาน เพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมาย เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ รวมถึงจะติดตามความเพียงพอของมาตรการภาครัฐและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดในและต่างประเทศในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายทางการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น