กรุงเทพฯ, 24 มีนาคม 2564 : วีซ่า ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก เผยผลการสำรวจฉบับล่าสุดเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปีของวีซ่า ที่สะท้อนให้เห็นว่ามากกว่าสี่ในห้าของคนไทย (82 เปอร์เซ็นต์) ได้ลองใช้ชีวิตแบบไร้เงินสด โดยเฉลี่ยคนไทยสามารถใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งเงินสดได้มากกว่าหนึ่งสัปดาห์ (8 วัน)
สถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นได้กระตุ้นให้ผู้บริโภคที่ไม่เคยใช้วิธีการชำระเงินแบบคอนแทคเลสหันมาทดลองแตะเพื่อจ่ายแทนเงินสดมากขึ้น โดยผู้บริโภคเลือกทดลองแตะเพื่อจ่ายผ่านสมาร์ทโฟนมากที่สุดเป็นอันดับแรก (26 เปอร์เซ็นต์) ตามด้วยแตะเพื่อจ่ายผ่านบัตรคอนแทคเลส (23 เปอร์เซ็นต์) และสแกนจ่ายผ่านคิวอาร์โค้ด (21 เปอร์เซ็นต์)
นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ในช่วงไม่มีกี่ปีที่ผ่านมา มีจำนวนผู้บริโภคที่หันมาเลือกใช้วิธีการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมายิ่งเป็นเสมือนตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ซึ่งปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนพร้อมกันทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน เราเชื่อว่าพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปอย่างถาวร”
นอกจากนี้จากการสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า สามข้อดีของการก้าวสู่สังคมไร้เงินสด คือ เป็นการช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรค (61 เปอร์เซ็นต์) ไม่ต้องต่อคิวในธนาคาร (60 เปอร์เซ็นต์) และช่วยให้สามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบัญชีได้ง่ายขึ้น (59 เปอร์เซ็นต์)
โดยผู้บริโภคชาวไทยรับรู้และคุ้นเคยกับการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดมากที่สุด (94 เปอร์เซ็นต์) ตามด้วยวิธีการชำระเงินแบบแตะเพื่อจ่ายผ่านสมาร์ทโฟน (92 เปอร์เซ็นต์) และการแตะเพื่อจ่ายผ่านบัตรคอนแทคเลส (89 เปอร์เซ็นต์) ส่วนในด้านของการใช้งานจริงนั้น 45 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ทำแบบสอบถามเลือกชำระเงินแบบแตะเพื่อจ่ายผ่านสมาร์ทโฟนมากที่สุด ตามมาด้วยการสแกนชำระผ่านคิวอาร์โค้ด (42 เปอร์เซ็นต์) และแตะเพื่อจ่ายผ่านบัตรคอนแทคเลส (41 เปอร์เซ็นต์)
"ใน 1 ปีที่ผ่านมาเทรนด์ใหม่ของการใช้จ่ายเกิดการ "แตะเพื่อจ่าย" (Contactless Card) จากทั่วโลกเพิ่มสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ โดยประเทศที่ใช้สูงสุด ได้แก่ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วนประเทศไทยนั้นขณะนี้มียอดใช้แบบนี้ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปี 2564 นี้ตัวเลขน่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงยังมีเป้าหมายที่จะขยายการให้บริการ "แตะเพื่อจ่าย" ไปยังการโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้น เช่น รถไฟฟ้า เรือ และรถโดยสารสาธารณะ และคาดว่าเรือโดยสารจะสามารถแตะเพื่อจ่ายได้ภายในปี 2564 นี้แน่นอน" นายสุริพงษ์ กล่าวเสริม
ผู้บริโภคชาวไทยเชื่อว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นเป็นเสมือนตัวเร่งให้ประเทศก้าวสู่สังคมไร้เงินสดเร็วขึ้นเพราะนวัตกรรมด้านการชำระเงินเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ในสถานการณ์ปัจจุบัน พวกเขาเชื่อว่าสังคมไร้เงินสดสามารถเกิดขึ้นได้จริงในปี 2026 ในขณะที่ก่อนการแพร่ระบาดคนไทยเคยคิดว่าสังคมไร้เงินสดจะไม่มีทางเกิดขึ้นก่อนปี 2030 อย่างแน่นอน
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลภายในบัตรนั้น ต่อเรื่องดังกล่าว ระบบหลังบ้านจะไม่ได้มีการจัดเก็บข้อมูลจากหน้าบัตร 16 หลัก แต่จะมีกระบวนการแปลงเป็น “หน่วยอิเล็กทรอนิกส์ : โทเคน (Digital TOKEN) จึงไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นบัตรของใคร ขณะที่ทางด้านโทรศัพท์มือถือปัจจุบันก็มีระบบการรักษาความเป็นส่วนตัวอย่างแน่นหนา ทั้งการสแกนใบหน้า ลายนิ้วมือ นับว่าเป็นความปลอดภัยขั้นสูง
“ปีนี้จะเป็นปีแห่งการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจภายใต้กระแสของความไม่แน่นอน ในขณะที่ผู้บริโภคต่างปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีการชำระเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ๆ เหล่าร้านค้าและภาคธุรกิจต่างต้องก้าวให้ทันตามความต้องการของและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สำหรับวีซ่า เราจะยังมุ่งมั่นพัฒนาและร่วมมือกับทุกภาคส่วนในระบบนิเวศการชำระเงินเพื่อช่วยให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าตามแผนการฟื้นฟู และเติบโตต่อไปในอนาคต” สุริพงษ์ กล่าวสรุป