15 มีนาคม 2564 : กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.45-30.95 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 30.78 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 30.49-30.94 บาท/ดอลลาร์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 4 เดือน ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวนตามการเคลื่อนไหวของตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ยกเว้นเงินเยนและฟรังก์สวิส
โดยในช่วงต้นสัปดาห์การประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯได้รับการตอบรับค่อนข้างน่าพอใจขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯยังอยู่ในระดับต่ำซึ่งช่วยลดแรงกดดันด้านขาขึ้นต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตร ทางด้านธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)มีมติคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ -0.50% และคงวงเงินในโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme ไว้ที่ 1.85 ล้านล้านยูโรตามความคาดหมาย พร้อมระบุว่าจะเร่งโครงการซื้อสินทรัพย์เพื่อชะลอการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนในยูโรโซน
อย่างไรก็ดี ช่วงท้ายสัปดาห์บอนด์ยิลด์สหรัฐฯระยะ 10 ปีทะยานขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือนครั้งใหม่หลังประธานาธิบดีไบเดนลงนามอนุมัติมาตรการกระตุ้นทางการคลังขนาด 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยมูลค่า 756 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตรสุทธิ 446 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า เหตุการณ์สำคัญสำหรับตลาดการเงินโลกในสัปดาห์นี้อยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ในวันที่ 17 มีนาคม นอกจากนี้ ยังมีผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ(บีโออี)วันที่ 18 มีนาคม และธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) วันที่ 19 มีนาคม สำหรับการประชุมเฟดในครั้งนี้ กรุงศรีมีมุมมองใน 3 ประเด็น ดังนี้
1) ค่ากลางประมาณการดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plots) ที่จัดทำโดยเจ้าหน้าที่เฟดจะบ่งชี้ถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นเล็กน้อยเป็นปี 2566 จากปีเดิมที่เคยประมาณไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2567
2) ความท้าทายหลักจะอยู่ที่ท่าทีของประธานเฟดในแถลงการณ์หลังการประชุมซึ่งคาดว่าจะเน้นย้ำถึงการสนับสนุนตลาดแรงงานต่อไปเพื่อลดทอนปฏิกิริยาของตลาดต่อ Dot Plots โดยประเด็นที่ 1 และ 2 เกี่ยวข้องกับบอนด์ยิลด์ระยะสั้นเป็นหลัก ซึ่งตลาดอาจตีความท่าทีสายพิราบของประธานเฟดท่ามกลางมาตรการด้านการคลังและการเปิดเมืองว่าจะยิ่งเป็นการกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อในอนาคต
3) เครื่องมือประคองตลาดพันธบัตรโดยรวมที่น่าจับตาในรอบนี้ คือ เฟดจะต่ออายุผ่อนปรนเกณฑ์ Supplementary Leverage Ratio ออกไปหรือไม่ หรือจะมีมาตรการอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งหมดนี้ คาดว่าตลาดจะผันผวนสูงและจะเป็นจุดตัดสินทิศทางของค่าเงิน โดยเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นต่อไปกรณีเฟดเพิกเฉยต่อการพุ่งขึ้นของยิลด์ระยะยาว