25 กันยายน 2559 : หลังจากสมาคมอาเซียน หรือ AEC เปิดตัวไปได้ไม่นาน ประเทศสมาชิกน้อยใหญ่ต่างเร่งพัฒนาตัวเองให้ก้าวไกลไปพร้อมกลุ่มกันอย่างจริงจัง พม่า หรือ เมียนมา ในยุคใหม่จะมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุด และการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้เป็นการซุ่มแต่อย่างไร ทำให้การเปิดประเทศของเมียนมาในรอบนี้ กลายเป็นประโยชน์กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทยไม่ใช่น้อย จากข่าวคราวในช่วง2-3ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นนักธุรกิจไทยน้อยใหญ่ทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า ข้ามเส้นพรมแดนไปทำมาหากินอย่างจริงจัง แม้กฎหหมายการเข้าไปประกอบธุรกิจในเมียนมาจะมีความเข้มงวดและรัดกุมก็ตาม
อย่างกรณีธนาคารพาณิชย์ของไทยถูกอนุมัติให้ตั้งสาขาที่เมียนมาอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา กว่าจะได้รับการอนึมัติให้เป็นสาขาในประเทศได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมียนมาไม่ยอมเสียประโยชน์ให้กับประเทศอื่นแน่นอน แต่สุดท้ายธนาคารพาณิชย์อย่างธนาคารกรุงเทพ ก็สามารถครองใจเมียนมาได้จนได้รับการอนุมัติเป็นสาขาหลังไปบุกเบิกรอความเชื่อใจปักหลักที่เมียนมานานนับสิบกว่าปี
ล่าสุด นายคเนศร์ บูรณสิน ผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ สาขาย่างกุ้ง ได้ออกมาเปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้เป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยสินเชื่อในการสร้างเสาโทรคมนาคมในประเทศพม่าร่วมกับธนาคารต่างชาติรายอื่นอีก 3 ราย คือ ธนาคารจากประเทศสิงคโปร์ 2 แห่งและธนาคารจากประเทศมาเลเซีย1 แห่ง วงเงินประมาณ 42 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 1,470 ล้านบาท การร่วมปล่อยสินเชื่อดัวกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่มีต่อประเทศพม่า สำหรับแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อในประเทศพม่าช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าประเทศพม่าจะมีข้อจำกัดในเรื่องของกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงลูกค้าก็ตาม แต่ยอดปล่อยสินเชื่อดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารสามารถปล่อยสินเขื่อได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ทั่งการขยายฐานลูกค้าและสินเชื่อ
และจากข่าวดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า เมียนมาเอาจริงที่จะพัฒนาประเทศ และการพัฒนาประเทศก็ต้องพึ่งธุรกิจรับเหมาในประเทศเพื่อนบ้านพอสมควร ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกมาเปิดเผยถึงมุมมองเรื่องดังกล่าวว่า การเติบโตของเมืองในเมียนมา และอุปทานที่อยู่อาศัยที่ยังน้อยกว่าอุปสงค์ เป็นผลดีต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของไทยในการเข้าสู่ตลาดที่มีศักยภาพสูงอย่างเมียนมา โดยเฉพาะตลาดการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 8.0-9.0 ในปี 2559–2563 และมีมูลค่าอุตสาหกรรมประมาณ 2.8-3.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563
สำหรับผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีศักยภาพเข้าไปลงทุนในเมียนมาได้แก่ ผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดกลาง ที่มีความพร้อมในการให้บริการในต่างประเทศ โดยจุดประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงจากการกระจายการลงทุน หรือเพื่อเสริมสร้างบทบาทของบริษัทในภูมิภาค และการเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมก่อสร้างของเมียนมาต้องเป็นในรูปแบบ Joint Venture ซึ่งนักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นได้สูงสุดร้อยละ 80 หรือเป็นการรับเหมาช่วงการก่อสร้างต่อจากผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้างของไทยก็สามารถได้รับประโยชน์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมก่อสร้างในเมียนมาด้วยเช่นกัน ธุรกิจก่อสร้างบ้านสำเร็จรูปแบบ Prefab หรือ Precast และธุรกิจขายส่งขายปลีกวัสดุ ก่อสร้าง เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ยังได้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การเดินทางไปเยือนสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาของนางออง ซาน ซูจี ในช่วงกลางเดือนกันยายน 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้สหราชอาณาจักรจะให้งบประมาณรวมถึงความช่วยเหลืออื่นๆ แก่เมียนมาในการพัฒนาประเทศ และสหรัฐอเมริกาได้ประกาศว่าจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าทั้งหมดที่มีมาตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งจะทำให้เมียนมาได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของสหรัฐอเมริกา ล้วนเป็นสัญญาณในทางบวกต่อโมเมนตัมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา เศรษฐกิจของเมียนมาขยายตัวในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7 ต่อปี และศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเมียนมาตั้งแต่ปี 2559-2562 ไว้ที่ประมาณร้อยละ 7.8-7.9 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนที่อยู่ที่ร้อยละ 4.6-4.9 และเมื่อเศรษฐกิจขยายตัว รายได้ของประชากรก็เพิ่มสูงขึ้นตาม การบริโภคขยายตัว เกิดการย้ายถิ่นฐานจากชนบทสู่เมือง ทำให้เมืองต่าง ๆ เกิดการขยายตัว โดยเฉพาะเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอย่างนครย่างกุ้ง กรุงเนปิดอว์ที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ เมืองมัณฑะเลย์ที่เป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจทางภาคเหนือ รวมถึงเมืองหลวงของแต่ละเขต/รัฐ เช่น เมืองตองยีของรัฐฉาน เมืองเมาะลำไยของรัฐมอญ เมืองพะโคของเขตพะโค (หงสาวดี) เมืองพะสิมของเขตอิรวดี เป็นต้น เมียนมาจึงเป็นประเทศหนึ่งที่นักลงทุนไทยไม่ควรมองข้าม
การก่อสร้างที่อยู่อาศัยในเมียนมามีอนาคตสดใส จากการขยายตัวของความเป็นเมือง ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมียนมา ในปี 2557 เมียนมามีประชากรทั้งหมดประมาณ 50.3ล้านคน มีประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองประมาณ 14.9 ล้านคน หรือร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ (นครย่างกุ้งมีสัดส่วนประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองสูงที่สุดที่ร้อยละ 70 หรือประมาณ 5.2ล้านคน จากจำนวนประชากร 7.4 ล้านคน) และองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.4 หรือ 23.4 ล้านคนในปี2569
นอกจากนี้ข้อมูลการลงทุนของเมียนมาในปี 2557 เทียบกับปี 2556 พบว่าอสังหาริมทรัพย์เป็นภาคเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตของมูลค่าการลงทุนสูงมากถึงร้อยละ 91.6 โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศแต่นักลงทุนชาวเมียนมาก็มีแนวโน้มในการลงทุนเพิ่มขึ้นเช่นกัน
“ในแง่ของจำนวนสิ่งก่อสร้าง จำนวนอาคารที่พักอาศัยที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในเมียนมาปี 2557 มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากจากปี 2553 โดยเฉพาะในนครย่างกุ้งที่มีจำนวนประชากรย้ายถิ่นเข้ามาถึงปีละประมาณ 3 แสนคน อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของจำนวนที่อยู่อาศัยก็ยังคงไม่เพียงพอกับอุปสงค์ ดังนั้น กระทรวงการก่อสร้างของเมียนมาจึงมีแผนที่จะก่อสร้างอพาร์ทเม้นท์และบ้านราคาต่ำให้กับประชาชนมากกว่า 1 ล้านยูนิตภายในปี 2574 แต่จำนวนที่อยู่อาศัยที่ก่อสร้างเสร็จในแต่ละปียังไม่สามารถตอบสนองต่ออุปสงค์ที่มากกว่าอุปทานมาก ดังนั้น อุตสาหกรรมก่อสร้างของเมียนมาจึงมีศักยภาพในการเติบโตที่สูงมากจากการขยายตัวของความเป็นเมือง”
โดย Business Monitor International Research (BMI Research) ประมาณการว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมก่อสร้างของเมียนมาจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2554 เป็น 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 และแม้ว่า ประมาณการอัตราการเติบโตที่แท้จริงของมูลค่าอุตสาหกรรมจะลดลงตั้งแต่ปี 2560 แต่ก็ยังเติบโตในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 10 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างในเมียนมายังคงเติบโตได้อีกมาก และยังมีช่องว่างทางธุรกิจให้ผู้รับเหมาก่อสร้างชาวไทยเข้าสู่ตลาดได้
นอกจากนี้ จากรายงานของ New Crossroads Asia พบว่าในปี 2556 มูลค่าของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยคิดเป็นสัดส่วนสูงที่สุดของมูลค่าอุตสาหกรรมก่อสร้างของเมียนมาที่ร้อยละ 50.3 รองลงมาได้แก่ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และการก่อสร้างเชิงอุตสาหกรรม ตามลำดับ โดยมีการประมาณการ CAGR ปี 2554-2559 ของการก่อสร้างแต่ละประเภทอยู่ที่ระหว่างร้อยละ 7.2-8.9 และเมื่อวิเคราะห์ถึงปี 2559 โดยใช้ CAGR ที่ประมาณการไว้จะพบว่าการก่อสร้างที่อยู่อาศัยจะมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 50.3 เป็นร้อยละ 49.4 และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างเชิงอุตสาหกรรมจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 27.7 และ 14.0 ตามลำดับ
ส่วนการก่อสร้างเชิงพาณิชย์และการก่อสร้างเชิงสถาบันมีสัดส่วนไม่เปลี่ยนแปลงซึ่งถึงแม้การก่อสร้างที่อยู่อาศัยจะมีสัดส่วนที่ลดลงจากการเติบโตของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างเชิงอุตสาหกรรมที่รัฐบาลเมียนมาให้ความสำคัญในการพัฒนา แต่ก็ยังเป็นภาคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีแนวโน้มเติบโตได้ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2559-2563อุตสาหกรรมก่อสร้างที่อยู่อาศัยจะมีอัตราการเติบโต (CAGR) อยู่ระหว่างร้อยละ 16.0-19.0 และมีมูลค่าประมาณ 3.7-4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563ปัจจัยภายในประเทศอาจเป็นตัวผลักดันให้ผู้รับเหมาก่อสร้างไทยออกไปลงทุนในเมียนมามากขึ้น
ตั้งแต่ปี 2554 ถึงเดือนมิถุนายน 2559 การลงทุนโดยตรงของไทยในอุตสาหกรรมก่อสร้างในเมียนมาเมื่อเทียบกับการลงทุนโดยตรงของไทยในอุตสาหกรรมก่อสร้างในต่างประเทศโดยรวมยังมีสัดส่วนต่ำมากไม่ถึงร้อยละ 1 โดยประเทศปลายทางที่นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนโดยตรงในอุตสาหกรรมก่อสร้างสูงที่สุด ได้แก่ สปป.ลาว ซึ่งเป็นการก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า ไม่ใช่การก่อสร้างที่อยู่อาศัย ตั้งแต่ปี 2554 ถึงเดือนมิถุนายน 2559 การลงทุนโดยตรงของไทยในอุตสาหกรรมก่อสร้างในเมียนมาเมื่อเทียบกับการลงทุนโดยตรงของไทยในอุตสาหกรรมก่อสร้างในต่างประเทศโดยรวมยังมีสัดส่วนต่ำมากไม่ถึงร้อยละ 1 โดยประเทศปลายทางที่นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนโดยตรงในอุตสาหกรรมก่อสร้างสูงที่สุด ได้แก่ สปป.ลาว ซึ่งเป็นการก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า ไม่ใช่การก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ
ยกเว้นในปี 2555 ที่การลงทุนโดยตรงของไทยในเมียนมาในอุตสาหกรรมก่อสร้างมีค่าสูงแบบก้าวกระโดด ซึ่งมีที่มาจากการกู้ยืมเงินระหว่างบริษัทแม่ในไทยและบริษัทลูกในเมียนมา ส่วนในดุลบัญชีการชำระเงิน (Balance of Payments: BoP) รายรับจากบริการรับเหมาก่อสร้างในเมียนมาเมื่อเทียบกับรายรับที่ได้จากบริการรับเหมาก่อสร้างในต่างประเทศทั้งหมดก็ยังคิดเป็นสัดส่วนที่ต่ำเช่นกัน เมื่อรวมเงินลงทุนโดยตรงของไทยในอุตสาหกรรมก่อสร้างในเมียนมาและรายรับบริการรับเหมาก่อสร้างในเมียนมาเข้าด้วยกันแล้วจะพบว่ายังมีมูลค่าเพียงเล็กน้อยแต่ก็มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่านักลงทุนไทยจะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมก่อสร้างในเมียนมาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากอานิสงส์ของการเติบโตของเศรษฐกิจของเมียนมา และในปี 2559 คาดว่ามูลค่าของเงินลงทุนโดยตรงของไทยในเมียนมาในอุตสาหกรรมก่อสร้างจะสูงกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างของไทยยังมีการแข่งขันที่สูงขึ้นจากจำนวนผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีอยู่เป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559อุตสาหกรรมก่อสร้างมีจำนวนนิติบุคคลจดทะเบียน (ไม่นับรวมบริษัทมหาชนจำกัด) ที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่จำนวนทั้งสิ้น 81,981 ราย เพิ่มจำนวนขึ้นจากสิ้นปี 2558 ถึง 3,125 รายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจผลักดันให้ผู้รับเหมาก่อสร้างออกไปรับงานจากต่างประเทศ คือ อุปสงค์การก่อสร้างที่อยู่อาศัยในประเทศที่ยังชะลอตัว
และแม้จะมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ แต่การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สะพาน อุโมงค์ ท่าเรือ สนามบิน และรถไฟฟ้านั้นใช้ทักษะความชำนาญในการก่อสร้างที่ต่างจากการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และหลายโครงการก็เป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนที่สูง ผู้รับเหมาก่อสร้างที่อยู่อาศัยจึงอาจไม่สามารถรับงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรัฐแทนการก่อสร้างที่อยู่อาศัยได้ ดังนั้น ปัจจัยในประเทศเรื่องการแข่งขันที่สูงขึ้นและอุปสงค์ที่ชะลอตัว ก็ทำให้การออกไปลงทุนในตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพสูงอย่างเมียนมาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจต่อผู้รับเหมาก่อสร้างของไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า นอกเหนือจากผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เริ่มออกไปลงทุนในเมียนมาบ้างแล้ว ผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีศักยภาพในการไปลงทุนในเมียนมาเป็นกลุ่มต่อไป ได้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดกลางที่มีขีดความสามารถเพียงพอในการให้บริการในต่างประเทศ ทั้งทางด้านเงินทุน เครื่องจักร และบุคลากร โดยมีจุดประสงค์หลักของการลงทุนเพื่อที่จะขยายธุรกิจของตนเองออกไปยังภูมิภาคเพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ หรือเพื่อเสริมสร้างบทบาทของบริษัทในระดับภูมิภาค โดยผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดกลางมีศักยภาพและความเหมาะสมมากกว่าผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดเล็ก เพราะผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดกลางมีเงินทุนที่มากกว่า มีเครื่องมือเครื่องจักรที่พร้อมกว่า และมีบุคลากรจำนวนมากกว่าโดยเฉพาะแรงงานกึ่งทักษะและแรงงานมีทักษะ ซึ่งผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดเล็กอาจประสบปัญหาในเรื่องเหล่านี้ได้
โดยเมียนมาเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงสำหรับผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดกลางเพราะมีที่ตั้งติดกับประเทศไทยและเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีอุปสงค์การก่อสร้างสูงและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง การออกไปลงทุนในเมียนมาของผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดกลางจึงน่าจะเกิดผลดีต่อธุรกิจมากกว่าการให้บริการภายในประเทศเพียงอย่างเดียว ซึ่งการออกไปลงทุนในต่างประเทศจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทในระดับภูมิภาค และลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจจากการกระจายการลงทุนและบริการ
ส่วนโอกาสของผู้รับเหมาก่อสร้างของไทยในการเข้าไปลงทุนในเมียนมามีสมาคมหลักของผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างภายในประเทศ เรียกว่า Myanmar Construction Entrepreneurs Association (MCEA) ซึ่งเป็นสมาคมที่มีบทบาทเป็นอย่างสูงในอุตสาหกรรมก่อสร้างของประเทศ เพราะ MCEA มีการทำงานกับภาครัฐอย่างใกล้ชิดในการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และกระบวนการร่างกฎหมาย มีความร่วมมือกับนักธุรกิจจากต่างประเทศในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และ MCEA ยังได้ก่อตั้งโรงงานปูนซีเมนต์เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้างภายในประเทศอีกด้วย
ตัวอย่างบริษัทก่อสร้างรายใหญ่ของเมียนมาซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิก MCEA ได้แก่ Yoma Strategic Holdings, Original Group, Shwe Taung Group, Max Myanmar Construction, Mya Nan Dar Construction, A1 Construction, Shine Construction, Taw Win Family Company, T.Z.T.M., Myo & Myint Brothers, Tet Lann และ Naing Group เป็นต้น
ผู้รับเหมาก่อสร้างของไทยหากจะเข้าไปลงทุนในเมียนมาสามารถทำได้ 2 รูปแบบ คือ แบบ Joint Venture (JV) และแบบรับเหมาช่วงการก่อสร้าง (Subcontract) ต่อจากผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ โดยหากต้องการจะเข้าไปลงทุนแบบ JV จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย Foreign Investment Law 2555 ที่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติที่จะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมก่อสร้างและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องลงทุนในรูปแบบ JV เท่านั้น โดยถือหุ้นได้สูงสุดที่ร้อยละ 80 และต้องจ้างแรงงานมีฝีมือชาวเมียนมาร้อยละ 25 ใน 2 ปีแรก และเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ในทุกๆ 2 ปีจนถึงปีที่ 6 ส่วนการจ้างแรงงานไร้ฝีมือต้องเป็นชาวเมียนมาเท่านั้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าผู้รับเหมาก่อสร้างไทยอาจเริ่มต้นจากการติดต่อ MCEA ซึ่งเป็นสมาคมหลักของผู้รับเหมาก่อสร้างของเมียนมาในการหาพันธมิตรทางธุรกิจซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีผู้รับเหมาก่อสร้างจากประเทศไทยที่เข้าไปลงทุนร่วมกับนักธุรกิจในเมียนมาและประสบความสำเร็จ โดยเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าตลาดบนที่เป็นเจ้าของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจในเรื่องคุณภาพมากกว่าราคา ทุกอย่างต้องเป็นของดีที่สุด เนื่องจากมีกำลังซื้อสูง หากผู้รับเหมาก่อสร้างของไทยต้องการจะเข้าไปลงทุนในเมียนมาในตลาดบน ก็ควรเน้นที่คุณภาพของงานและการส่งมอบที่ตรงเวลา
ข้อที่นักลงทุนควรระวังคือ การก่อสร้างในเมียนมามีต้นทุนที่สูงกว่าการก่อสร้างในไทย เพราะวัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศ และอาคารก่อสร้างจะต้องรองรับแผ่นดินไหวได้ทำให้ต้องใช้วัสดุที่แข็งแรงทนทานกว่าก็ยิ่งทำให้ต้นทุนการนำเข้าวัสดุก่อสร้างสูงมากขึ้น และแรงงานชาวเมียนมาอาจไม่มีความชำนาญในการก่อสร้างเท่าแรงงานชาวไทย ผู้รับเหมาก่อสร้างจำเป็นที่จะต้องฝึกอบรมก่อนเริ่มงานทำให้มีต้นทุนในการฝึกอบรมเพิ่มขึ้น สุดท้ายคือเรื่องของความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างไฟฟ้าที่เมียนมาเกิดปัญหาไฟฟ้าดับบ่อย ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่องานก่อสร้างได้
โดยสรุป อุปสงค์ของการก่อสร้างในเมียนมามีการเติบโตที่สูงมากจากการขยายตัวของเมือง และเศรษฐกิจก็ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในอนาคตทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยมีมากกว่าอุปทานในตลาด รวมไปถึงการปรับปรุงกฎหมายการลงทุนที่เป็นมิตรต่อนักลงทุนต่างชาติมากขึ้นทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเป็นโอกาสของผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดกลางของไทยที่ต้องการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของบริษัทในระดับภูมิภาค หรือเพื่อใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่ให้เต็มที่ ซึ่งจะให้ประโยชน์มากกว่าการให้บริการในประเทศเพียงอย่างเดียว โดยสามารถเข้าไปลงทุนแบบ JV หรือ Subcontract
นอกจากนี้ ธุรกิจก่อสร้างบ้านสำเร็จรูปแบบ Prefab และ Precast และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้างก็มีโอกาสเติบโตในตลาดเมียนมาเช่นกัน แต่การลงทุนในอุตสาหกรรมก่อสร้างในเมียนมาก็มีหลายปัจจัยที่ควรระวัง ทั้งเรื่องของแรงงาน การประสานงานกับภาครัฐ ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง และโครงสร้างพื้นฐานที่ยังต้องได้รับการพัฒนา การลงทุนในอุตสาหกรรมก่อสร้างของเมียนมาจึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อผู้รับเหมาก่อสร้างของไทย