9 กุมภาพันธ์ 2564 : บมจ.ที คิว อาร์ (TQR) ธุรกิจนายหน้าประกันภัยครบวงจร เคาะราคาไอพีโอหุ้นละ 5.10 บาท เปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 9-11 ก.พ.64 ได้ฤกษ์ดีเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ mai วันที่ 17 ก.พ.นี้ แต่งตั้ง บล.ธนชาต เป็นแกนนำอันเดอร์ไรท์ ระบุเป็นราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน มั่นใจเปิดจองซื้อกระแสตอบรับดี หลังปิดโรดโชว์พบว่านักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยให้ความสนใจอย่างคับคั่ง ชูจุดเด่นผู้ให้บริการนายหน้าประกันภัยต่อแบบครบวงจร ฐานะการเงินแข็งแกร่ง สามารถสร้างกำไรขยายตัวต่อเนื่องทุกปี และเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต
นางสาวพันทิตา แซ่เอ็ง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญของ บมจ.ที คิว อาร์ เปิดเผยว่า กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนเป็นครั้งแรกจำนวน 60 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 5.10 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ โดยระดับราคาดังกล่าวเทียบเท่ากับ Forward P/E ที่ 14 เท่า กำหนดเปิดให้จองซื้อหุ้นไอพีโอ วันที่ 9-11 กุมภาพันธ์ 2564 และคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ใช้ชื่อย่อในการซื้อขายคือ "TQR" เข้าเทรดในกลุ่มธุรกิจการเงิน
“การกำหนดราคาไอพีโอที่ระดับ 5.10 บาทต่อหุ้น ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสม สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของ TQR และด้วยผลประกอบการที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง และมีแนวโน้มธุรกิจที่จะเติบโตต่อเนื่องในอนาคต สอดรับกับ New Normal ในปัจจุบัน และจากการโรดโชว์ที่ผ่านมาได้รับความสนใจการนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายย่อยเป็นจำนวนมาก จึงมั่นใจว่า จะเป็นอีกหนึ่งหลักทรัพย์ที่ได้รับการตอบรับที่ดีอย่างมากจากนักลงทุน” นางสาวพันทิตากล่าว
สำหรับผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายในครั้งนี้ ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) นางสาวจิรยง อนุมานราชธน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจย์ แคปปิตอล แอดไวเซอรี จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ.ที คิว อาร์ กล่าวว่า TQR นี้มีจุดเด่นคือการเป็นหุ้นธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อแบบครบวงจร ที่มีทีมผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ด้านประกันภัยต่อและประกันภัยมากกว่า 20 ปี มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้า ที่สำคัญคือมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ผลประกอบการขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดแก่คู่ค้าด้วย อีกทั้งยังอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตในอุตสาหกรรมได้อีกมาก
ด้วยการให้บริการที่มีคุณภาพของ TQR สามารถตอบสนองความต้องการของบริษัทประกันภัยและบริษัทรับประกันภัยต่อในการจัดหาสัญญาประกันภัยต่อที่เหมาะสมได้ สอดคล้องกับจำนวนสัญญาประกันภัยต่อที่ผ่าน TQR เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งมีการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการขายเป็นอย่างดี จึงทำให้ผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2560-2562 มีรายได้รวม 104.96 ล้านบาท 153.75 ล้านบาท 132.49 ล้านบาท ตามลำดับ โดยรายได้ในงวด 9 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 บริษัทมีรายได้รวมจำนวน 160.47 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 57.39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ จากกลุ่มธุรกิจนายหน้าประกันภัยต่อแบบพัฒนาช่องทางและผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกัน (Alternative Business) ส่วนกำไรสุทธิสำหรับปี 2560 – 2562 บริษัทมีกำไรสุทธิ 23.62 ล้านบาท 32.88 ล้านบาท 44.04 ล้านบาทตามลำดับ โดยในงวด 9 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 มีกำไรสุทธิ 68.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.54% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 38.22 ล้านบาท
นายชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ที คิว อาร์ กล่าวว่า เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ จะนำไปใช้ในการลงทุนพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพในการให้บริการ (Operational Efficiency Improvement Platform) เป็นการพัฒนาข้อมูลระบบการประกันภัยต่อ จะส่งผลให้การจัดสรรการประกันภัยต่อได้อย่างให้รวดเร็วมากขึ้น
ส่วนที่ 2 จะนำไป การลงทุนพัฒนาแบบจำลองทางการเงิน (Financial Model) สำหรับธุรกิจการประกันภัย รวมทั้งใช้เป็นเงินลงทุนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการรองรับการขยายธุรกิจได้ในอนาคต ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ว่าจะช่วยบริษัทประกันภัยอย่างไร เพื่อจะได้ช่วยให้ลูกค้าสามารถพิจารณาได้ว่าตนเองจะต้องทำประกันภัยไว้มากแค่ไหน
“ภายหลังจากการระดมทุนในครั้งนี้ จะทำให้บริษัทฯ มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจให้มีการเติบโตมากขึ้น รวมทั้งมีฐานทุนที่มั่นคงยิ่งกว่าเดิม ชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของคู่ค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ และด้วยแนวโน้มของธุรกิจที่ยังสามารถเติบโตได้อีกมากในอนาคต จากความต้องการด้านการประกันภัยต่อสูงขึ้น จึงมั่นใจว่า TQR จะเป็นหนึ่งในบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์ ที่สามารถสร้างผลตอบแทนในระดับที่น่าประทับใจให้กับผู้ถือหุ้นได้และเติบโตไปอย่างต่อเนื่อง”นายชนะพันธุ์กล่าวในที่สุด
อย่างไรก็ดี โบรกเกอร์ปัจจุบันต้องปรับตัว ต้องให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภครุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับยุคดิจิทัลที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป กลุ่มนี้จะมีความต้องการเยอะ เช่นอาจจะมีคำถามว่าประกันภัยแบบนี้ ประเทศอื่นๆ มีแล้วทำไมประเทศฉันไม่มี เป็นต้น ซึ่งทางสมาคมนายหน้าเราก็ทำงานหนักในส่วนของการวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภคสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ซึ่งปีที่ผ่านมาจะมีกรมธรรม์ความรับผิดแบบต่างๆ รวมถึงเทรดเครดิต ประกันไซเบอร์ กรมธรรม์ประกันคู่ค้า ซึ่งเกิดขึ้นได้จริงๆ ในอนาคตจะมีการพัฒนากรมธรรม์ใหม่ๆ อีกมากมาย