25 มกราคม 2564 : นายคมศร ประกอบผล ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr.Komsorn Prakobphol, Head of Economic Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากจุดต่ำสุดในปีที่ผ่านมา โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่าง S&P 500 ที่ใช้เวลาเพียง 10 เดือนในการปรับขึ้น 72% นับจากจุดต่ำสุดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ถือเป็นการฟื้นตัวที่เร็วที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ และคล้ายกับการฟื้นตัวในวิกฤตซับไพรม์ปี 2552 เป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของความเร็ว ขนาด และรูปแบบในการฟื้นตัว
“หากพิจารณาการฟื้นตัวจากช่วงซับไพรม์จะพบว่าดัชนี S&P 500 ได้ปรับฐานประมาณ 10% ในเดือนที่ 11 ของการฟื้นตัว ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าตลาดหุ้นในช่วงนี้มีความเสี่ยงที่จะปรับฐานเช่นกัน โดยการปรับฐานของตลาดในรอบซับไพรม์นั้นมีสาเหตุจาก 1. ตัวเลขเศรษฐกิจที่เริ่มแผ่วลงในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 และ 2.การยุติมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในเดือนมีนาคม 2553” นายคมศรกล่าว
สำหรับการฟื้นตัวในรอบนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ได้เริ่มเห็นการปรับตัวขึ้นของเศรษฐกิจ ในลักษณะที่แผ่วลงแบบเดียวกับวิกฤตซับไพรม์ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดระลอกสองในหลายประเทศ นอกจากนี้ ยังเห็นภาวะการเก็งกำไรการลงทุนในตลาดหุ้นค่อนข้างสูง โดยวัดจากดัชนีชี้วัดภาวะการเก็งกำไร เช่น Put-call Ratio, ปริมาณการถือครองเงินสดของผู้จัดการกองทุน ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบหลายปี และปริมาณกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Margin) ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการปรับฐาน
อย่างไรก็ตาม หากตลาดหุ้นเกิดการปรับฐานในรอบนี้ ประเมินว่าจะเป็นเพียงการปรับฐานระยะสั้นเท่านั้น และอาจไม่รุนแรงเท่ากับในอดีต เนื่องจากมีปัจจัยบวก ด้านนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่ยังผ่อนคลายอย่างมาก รวมถึงความคืบหน้าจากการกระจายวัคซีนที่ยังช่วยหนุนตลาด
ขณะที่ในระยะยาวยังมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการเติบโตของกำไร ซึ่งจะผลักดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นต่อ นำโดยกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) ที่มีแแนวโน้มปรับตัวขึ้นตามทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจ และกำไรบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคนี้มีโอกาสเติบโตสูง ขณะที่ระดับราคาหุ้น (Valuation) ยังไม่แพงมาก
โดยตลาดหุ้นที่มีความน่าสนใจที่สุดในภูมิภาคนี้ คือ ตลาดหุ้นจีน (CSI300) เห็นได้จากอัตราส่วนระหว่างราคาหลักทรัพย์ต่อกำไรสุทธิคาดการณ์ต่อหุ้น (Forward P/E Ratio) ที่อยู่ประมาณ 15 เท่า ซึ่งยังต่ำว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500 ที่ 22 เท่า) และตลาดหุ้นไทย (SET Index ที่ 19 เท่า) อยู่พอสมควร ซึ่งสะท้อนว่า ตลาดหุ้นจีนยังมีราคาไม่แพง และยังมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นได้ ตามทิศทางเดียวกับกำไร ดังนั้น การปรับฐานของหุ้นในรอบนี้จึงแนะนำให้นักลงทุนพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นจีน เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับพอร์ตการลงทุนโดยรวม