22 มกราคม 2564 : ดร.กิตติ โฆษะวิสุทธิ์ ประธานกรรมการศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัย เทคโนโลยีสารสนเทศภาคธนาคาร (TB-CERT) เปิดเผยว่า ด้วยปัจจุบันมีเหตุการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์เกิดขึ้นมากมาย ทั้งภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้งานโดยตรงและภัยไซเบอร์ที่เกิดจากผู้ให้บริการแต่ส่งผลกระทบวงกว้างมายังผู้ใช้งาน
โดยจุดมุ่งหมายหลักของกลุ่มแฮกเกอร์ คือ การพยายามเข้าถึงระบบและข้อมูลสำคัญ หนึ่งในข้อมูลสำคัญที่แฮกเกอร์ให้ความสนใจคือ การเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวหรือการหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนตัว เพื่อนำไปใช้งานเสมือนเป็นเจ้าของข้อมูลนั้น ๆ เนื่องจากข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่บ่งบอกถึงลักษณะเฉพาะของบุคคล เพื่อเข้าใช้งานบริการของหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงิน มักจะใช้ข้อมูลส่วนตัวเพื่อประกอบการยืนยันตัวตน
ดังนั้นข้อมูลส่วนตัวจึงมีความสำคัญ เพราะหากมีผู้ไม่หวังดีล่วงรู้ก็อาจจะใช้สวมรอยในการทำธุรกรรมแทนและสร้างความเสียหายให้แก่เจ้าของข้อมูลได้ ดังนั้นหากพบว่ามีข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลจากผู้ให้บริการ ควรปฏิบัติ ดังนี้
1.ตรวจสอบและประเมินความสำคัญของข้อมูลที่ใช้งานกับผู้ให้บริการรายนั้น
2.เปลี่ยนรหัสผ่านที่ใช้ในการเข้าระบบของผู้ให้บริการรายนั้น
3.หากมีการใช้รหัสผ่านเดียวกันกับระบบอื่น ๆ เช่น อีเมล Facebook หรือ LINE ควรเปลี่ยนรหัสผ่านดังกล่าวด้วย
4.หลีกเลี่ยงการตั้งรหัสผ่านด้วยข้อมูลส่วนตัว เช่น วันเดือนปีเกิด หรือ หมายเลขโทรศัพท์ เป็นต้น
5.ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ขอข้อมูล ระมัดระวังการให้ข้อมูลส่วนตัวทางช่องทางต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ หรือโทรศัพท์
6.หากสงสัยในการกรอกข้อมูลใด ๆ บนธุรกรรมออนไลน์หรือเว็บไซต์ ควรติดต่อสอบถามกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงก่อน