22 มกราคม 2564 : ทีเอ็มบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นก้าวสู่ธนาคารที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ครองอันดับหนึ่ง “การเงินที่เป็นธรรม” ติดต่อกันเป็นปีที่สอง ด้วยคะแนนที่เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น จากการประกาศผล “ธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน ปีที่ 3” จัดโดยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย หรือ Fair Finance Thailand ปี 2563 พร้อมสานต่อพันธกิจการดำเนินธุรกิจธนาคารที่ยั่งยืนควบคู่ไปกับการเติบโต เพื่อตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน รุกเดินหน้าสร้างชีวิตทางการเงิน หรือ Financial Well-being ที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งประเทศ เชื่อเป็นเรื่องสำคัญต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทีเอ็มบีมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปสู่ธนาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Banking) ที่ทีเอ็มบีให้ความสำคัญและผลักดันมาโดยตลอด และพร้อมสานต่อพันธกิจการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของทีเอ็มบีในการสร้างชีวิตทางการเงิน (Financial Well-being) ที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งประเทศ อันเป็นรากฐานที่จะช่วยให้ทุกคนบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้
“การที่ทีเอ็มบีได้รับคะแนนสูงสุด เป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องติดต่อกันสองปี จากการประกาศผล “ธนาคารไทยใส่ใจกี่คะแนน ปีที่ 3” ซึ่งประเมินผลความเป็นธรรมของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ตามแนวทาง Fair Finance Guide International โดยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ประจำปี 2563 การได้คะแนนเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นในหลายประเด็น เนื่องมาจากความมุ่งมั่นทุ่มเทปฏิบัติตามหลักการธนาคารที่ยั่งยืนและการเงินที่เป็นธรรม ตั้งใจสร้างประโยชน์ให้กับผู้คน เป็นผู้นำวงการธนาคารที่ใส่ใจลูกค้า ตลอดจนสร้างสังคมให้เข้มแข็งและมีความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งสิ่งที่ทีเอ็มบีนำมาตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน มีทั้งเรื่องการสร้างวินัยในการออมและการลงทุน รวมถึงโซลูชันทางการเงินอื่น ๆ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าทุกช่วงชีวิต การสร้างประสบการณ์แบบไร้รอยต่อในทุกช่องทาง รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”
นายปิติ กล่าวด้วยว่าการสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริงต้องเกิดจากความเชื่อของทั้งองค์กร เริ่มจากผู้บริหารและคณะกรรมการต้องเป็นแรงผลักดันสำคัญ โดยทั้งทีเอ็มบีและธนชาตมีความเชื่อมั่นตรงกันในเรื่องของความยั่งยืน ดังนั้นภายหลังการรวมธนาคารแล้วก็จะยังให้ความสำคัญต่อไปและผลักดันให้บุคลากรเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น
“เราเชื่อว่าประโยชน์สูงสุดของการรวมธนาคารในครั้งนี้จะอยู่ที่ลูกค้าของทั้งสองธนาคาร ด้วยการนำจุดแข็งของแต่ละธนาคารมาช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินต่าง ๆ ให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น ที่สำคัญด้วยแนวทางที่ตรงกันเรื่องความยั่งยืน เมื่อรวมกันแล้วธนาคารมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นทำให้เรามีความสามารถในการ
ขับเคลื่อนประเทศและสังคมได้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทิศทางที่สำคัญของธนาคารภายหลังการรวมคือต้องการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อสังคมและภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยปัจจัยเรื่องการก้าวสู่สังคมสูงวัยและปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ทั้งธุรกิจและผู้บริโภคตระหนักถึงความมั่นคงปลอดภัยในทุกเรื่อง”
ด้านนายนริศ อารักษ์สกุลวงศ์ หัวหน้ากลยุทธ์องค์กร ทีเอ็มบี กล่าวว่า ภารกิจของธนาคารไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวม แต่ต้องพยายามเตรียมความพร้อมให้กับผู้บริโภคและธุรกิจต่าง ๆ ให้ทราบด้วยว่าสุขภาพทางการเงินที่ดีหมายถึงอะไร ถือเป็นแนวทางที่ธนาคารพยายามทำให้สังคมเรียนรู้เรื่องนี้ในวงกว้าง โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทุกคนต่างได้รับผลกระทบทางการเงิน
ธนาคารมองเรื่องการสร้างความยั่งยืนและการเติบโตก้าวหน้าของธนาคารเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะคงเป็นไปไม่ได้ที่ธนาคารจะเดินไปข้างหน้าโดยที่ลูกค้ามีสุขภาพทางการเงินย่ำแย่ ดังนั้น การผลักดันให้ธนาคารก้าวไปข้างหน้า ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น และหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ ต้องไปในทิศทางเดียวกัน ประกอบกับภาพรวมของประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญ จึงเป็นที่มาว่า Financial Well-being เป็นแก่นของการดำเนินธุรกิจของทีเอ็มบีและธนชาต
นอกจากนี้ ทีเอ็มบียังให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) โดยธนาคารมีแนวคิดในการผลักดันการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น จึงได้มีการทบทวนนโยบายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental and Social Responsibility Policy) เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายดังกล่าว สอดรับกับสถานการณ์ที่เหมาะสมและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ด้านความยั่งยืน
ขณะเดียวกัน ธนาคารได้ร่วมกับผู้ประกอบการที่มีแนวคิดเดียวกัน มีความเชื่อเดียวกันในส่งเสริมการทำธุรกิจที่มีความยั่งยืนต่อสภาวะสิ่งแวดล้อม ร่วมกันทำโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ร่วมกันส่งเสริมให้ลดการเผาไร่อ้อยที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศ เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจกับความยั่งยืนไปด้วยกันได้