15 มกราคม 2564 : นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้รับใบอนุญาตการจัดตั้งธนาคารไทยพาณิชย์ เมียนมา จากธนาคารกลางเมียนมา และพร้อมให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 มกราคม 2564 ถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ประกอบให้ยุทธศาสตร์การขยายเครือข่ายต่างประเทศในกลุ่มประเทศ CLMV+2 ที่ธนาคารมุ่งมั่นมาตลอดหลายปีประสบความสำเร็จ โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาในฐานะประเทศกลยุทธ์ (Strategic Country)
ด้วยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในเวทีเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เป็นจุดหมายปลายทางที่ดึงดูดนักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลก อีกทั้งเมียนมายังมีภูมิศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงระหว่าง 2 ภูมิภาคยักษ์ใหญ่อย่างจีนและอินเดีย ในขณะที่รัฐบาลเมียนมามีนโยบายสนับสนุนการเข้ามาลงทุนของต่างชาติอย่างต่อเนื่อง และถึงแม้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลก ตลอดจนเมียนมา รวมถึงประเทศไทยเองต่างกำลังเผชิญและต่อสู้กับมหาวิกฤตการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แต่ธนาคารยังเชื่อมั่นว่าทิศทางการลงทุนในเมียนมาจะไม่เปลี่ยนภาพไปจากเดิม
เศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง จึงเดินหน้าตามแผนเปิดสำนักงาน ธนาคารไทยพาณิชย์ เมียนมา เพื่อเป็นฟันเฟืองด้านการเงินร่วมสนับสนุนการฟื้นฟูของการค้า-การลงทุนให้กับภาคธุรกิจ ตลอดจนการเงินภาคประชาชนในเมียนมา และเป็นสะพานเชื่อมโยงการลงทุนในระดับภูมิภาคต่อไป โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเมียนมาจะกลับมาขยายตัวที่ 6% ในปี 2564 เติบโตจากที่คาดว่าจะขยายตัว 1.5% ในปี 2563 เพราะผลกระทบจากโควิด-19
ธนาคารไทยพาณิชย์ เมียนมา เป็นธนาคารไทยเพียงแห่งเดียวที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบธนาคารลูก (Subsidiary License) โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้น 100% สามารถประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบเสมือนธนาคารท้องถิ่นในเมียนมา ธนาคารมีความมุ่งมั่นที่จะให้บริการประชาชนและส่งเสริมธุรกิจในเมียนมาเพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น ซึ่งในขณะนี้อัตราประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินมีถึง 74% รวมทั้งสินเชื่อในภาคธุรกิจที่มีเพียง 20% ของ GDP (Domestic credit to private as % of GDP)
ดังนั้น ธนาคารจึงมุ่งเน้นการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาผ่านการนำเสนอบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้กับกลุ่มเป้าหมายของธนาคารให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ ลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย โดยตั้งใจนำเอาประสบการณ์ความคร่ำหวอดในธุรกิจการเงินระดับภูมิภาคและศักยภาพในทุกมิติ โดยเฉพาะความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี เข้ามาเชื่อมต่อกับธุรกิจในเมียนมาเพื่อสร้างขีดความสามารถใหม่และเดินหน้าเจาะตลาดลูกค้าทุกกลุ่มให้ประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีเป้าหมายจะสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินและระบบการชำระเงินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและสามารถตอบโจทย์โลกธุรกิจและการเงินดิจิทัลให้กับเมียนมา สอดคล้องกับทิศทางการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบดิจิทัลในเมียนมาที่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งธนาคารอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อพัฒนาบริการให้สามารถสร้างประสบการณ์ทางการเงินที่ดีให้กับชาวเมียนมา โดยจะเริ่มต้นพัฒนาด้านระบบการชําระเงินดิจิทัล ทั้ง Corporate portal สำหรับลูกค้าธุรกิจ และ Mobile Banking สำหรับลูกค้ารายย่อย ซึ่งคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ภายในปี 2565 เพื่อตอบโจทย์การชำระสินค้าและบริการ ซึ่งจะช่วยลดภาระในการใช้และบริหารเงินสดในประเทศ
นายสารัชต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมียนมาเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตค่อนข้างสูง ถึงแม้ปัจจุบัน สินเชื่อลูกค้าธุรกิจจะเทียบเท่า 87% ของสินเชื่อทั้งหมดที่มีมูลค่าประมาณ 18,000 ล้านเหรียญ ในส่วนลูกค้ารายย่อยจะมีเพียงประมาณ 10% ซึ่งธนาคารกลางเมียนมาคาดว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อลูกค้ารายย่อยจะเติบโตแบบก้าวกระโดด นอกจากนี้ นวัตกรรมในรูปแบบสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ จากอัตราเพิ่มการใช้งานของ smartphone จาก 80% เป็น 90% ของประชากร ในปี 2561 ถึง 2562 นอกจากนั้น ยังมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นกว่า 1 ล้าน ผู้ใช้งาน ระหว่างปี 2562 ถึง 2563 จึงเป็นกลุ่มศักยภาพสำคัญต่อการพัฒนาระบบการเงินดิจิทัล
ธนาคารไทยพาณิชย์ เมียนมา ตั้งอยู่ที่ Sule Square Office Tower ซึ่งเป็นเขตธุรกิจสำคัญย่านใจกลางกรุงย่างกุ้ง โดยมี Mr. Rajesh Ahuja ดำรงตำแหน่งผู้จัดการ (General Manager) ทั้งนี้ ธนาคารเริ่มเข้ามาให้บริการในเมียนมาตั้งแต่ปี 2555 ในรูปแบบสำนักงานตัวแทน (Representative Office) จึงมีความเข้าใจตลาด วัฒนธรรม ตลอดจนกฎระเบียบในเมียนมาเป็นอย่างดี พร้อมเป็นที่ปรึกษาให้กับทุกธุรกิจที่ต้องการเข้าไปขยายกิจการในเมียนมา และพร้อมเป็นสะพานเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างภูมิภาคให้กับนักลงทุนจากทุกชาติที่ต้องการขยายการค้าการลงทุนมายังประเทศในกลุ่ม CLMV+2 ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม จีน และสิงคโปร์