18 ธันวาคม 2563 : นายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพจัดงาน ‘บัวหลวงเอสเอ็มอีแฟร์ 2563’ งานมหกรรมจำหน่ายสินค้าราคาพิเศษจากสมาชิกชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี กว่า 100 ราย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีช่องทางจำหน่ายสินค้าเพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกันยังช่วยแบ่งเบาผู้บริโภคให้สามารถเข้าถึงสินค้าคุณภาพเยี่ยมในราคาพิเศษ ซึ่งในงานครั้งนี้ได้รวบรวมสินค้าไว้หลายร้อยรายการ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอาง อุปกรณ์มือถือ ชุดเครื่องนอน กระเป๋าเดินทาง รองเท้าแบรนด์ดัง อาหารและอาหารทะเลแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ของขวัญของชำร่วย และสินค้าคุณภาพอื่นๆ อีกหลากหลาย โดยงานในปีนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ณ บริเวณลานด้านหน้าธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่สีลม
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้เพิ่มช่องทางใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ขาช้อปได้มากยิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่มแพลตฟอร์มโซเชียลคอมเมิร์ซ Facebook Group “บัวหลวงเอสเอ็มอีแฟร์” อีกหนึ่งช่องทาง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและรองรับพฤติกรรมลูกค้าในยุค Next Normal เพียงแค่คลิก https://www.facebook.com/groups/373578103954190 ก็สามารถเลือกช้อปสินค้าคุณภาพได้จากทุกที่ที่ต้องการ ไม่ต่างจากการมาเดินเลือกซื้อสินค้าภายในงานด้วยตัวเอง
สำหรับงานมหกรรมสินค้า “บัวหลวงเอสเอ็มอีแฟร์” ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2552 ด้วยแนวคิดของ คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตประธานกรรมการบริหาร เพื่อสนับสนุนการเพิ่มช่องทางการตลาดและรายได้สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจที่เป็นสมาชิกชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี ขณะเดียวกันยังเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าคุณภาพสูงในราคาพิเศษ จากผู้ผลิตที่นำมาจำหน่ายโดยตรง ทำให้ได้รับการตอบรับที่ดีมาก ประสบความสำเร็จอย่างสูงตั้งแต่ปีแรก และจัดต่อเนื่องตลอดมาทุกปี จนปัจจุบันนับเป็นครั้งที่ 12 แล้ว
“ธนาคารให้ความสำคัญอย่างสูงสุดกับการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มาร่วมงาน จึงได้จัดงานภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด โดยขอความร่วมมือให้ผู้ร่วมงานทุกคนสวมหน้ากากอนามัย และให้ความสำคัญในการเว้นระยะห่าง (Social Distancing) ในระหว่างเลือกซื้อสินค้าภายในงาน พร้อมทั้งยังมีโปรโมชั่น “สแกนจ่าย ได้เงินคืน” สำหรับการจ่ายค่าสินค้าแบบดิจิทัล เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เงินสด
สำหรับลูกค้าธนาคารกรุงเทพที่ชำระเงินผ่าน Bangkok Bank Mobile Banking ในร้านค้าที่ร่วมรายการ ตั้งแต่ 200 บาทขึ้นไป รับเงินคืน (Cash Back) 20 บาทต่อรายการ (ลูกค้าจะได้รับเงินคืนเข้าบัญชีที่ใช้สแกนจ่ายในวันถัดไป สูงสุด 100 บาทต่อคน จำกัด 1,000 สิทธิ์ ตลอดงาน) ขณะเดียวกัน ธนาคารยังมีบริการ BeMerchant ผู้ช่วยสำหรับร้านค้ายุคดิจิทัล เพื่อรับการชำระค่าสินค้าด้วย QR Code ลดความยุ่งยากในการจัดการเงินสดและช่วยสรุปยอดขาย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่คนกังวลการแพร่ระบาดของโควิด 19 และพยายามหลีกเลี่ยงการใช้เงินสดอีกด้วย”
นายวีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญปัญหารอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของประเทศไทย แต่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก กลายเป็นโจทย์สำคัญของผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี จำเป็นต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อประคองธุรกิจให้รอดพ้นวิกฤติและเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต เพราะแม้สถานการณ์จะเริ่มฟื้นตัวกลับมา แต่สิ่งต่างๆ รอบตัวจะเปลี่ยนแปลงไป ทั้งวิธีคิด พฤติกรรม และรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หรือเข้าสู่ยุค Next Normal ทำให้ธุรกิจที่ยังอยู่ในวิถีเดิมๆ คิดแบบเดิม ทำแบบเดิม จะไม่สามารถอยู่รอดได้
ธุรกิจยุค Next Normal จึงควรยึดหลัก “2L 2ต.” เป็นหัวใจในการทำธุรกิจ ประกอบด้วย Light ธุรกิจต้องเบา คล่องตัว ไม่มีกระบวนการยุ่งยากซับซ้อน เพราะทำให้ประสิทธิภาพต่ำลง Liquid มีสภาพคล่องเพียงพอ ขณะเดียวกันต้องทำสินค้าหรือบริการนั้น ต่าง จากคู่แข่ง เพื่อให้แข่งขันได้ ไม่ต้องไปสู้ในสงครามราคา และต้องมีต้นทุน ต่ำ เพื่อให้ขายสินค้าในราคาที่เหมาะสม เพราะแนวโน้มคนจะมีรายได้ลดลง และระมัดระวังเรื่องใช้จ่ายมากขึ้น ธุรกิจจึงต้องทำให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่า ได้สินค้าดี ที่ราคาไม่แพง
“การปรับตัวของธุรกิจเอสเอ็มอีในเวลานี้ จึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่และสำคัญมาก ถ้าเป็นอาการป่วยคงอยู่ในภาวะที่ต้องผ่าตัดอย่างเร่งด่วน เพื่อต่อสู้กับโรคที่กำลังเผชิญและรักษาให้หายขาด แต่ขณะเดียวกันการประคับประคองเพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า หรือการรักษาตามอาการก็ยังจำเป็นต้องทำควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ธุรกิจผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากตรงหน้าไปให้ได้ก่อน
ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะ “เพื่อนคู่คิด” พร้อมเคียงข้างธุรกิจเอสเอ็มอี มีหลากหลายมาตรการให้ความช่วยเหลือ ทั้งการดูแลสภาพคล่อง การให้คำปรึกษาเพื่อวางแผนและบริหารจัดการทางการเงิน รวมทั้งการจัดการแก้ปัญหาหนี้ที่ภาคธุรกิจต้องแบกรับ ด้วยการพิจารณาสินเชื่อต่างๆ หรือการเข้าร่วมโครงการ DR BIZ เพื่อช่วยลูกค้าเอสเอ็มอีแก้หนี้แบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว และเป็นอีกหนึ่งแนวทางให้ความช่วยเหลือลูกค้าให้อยู่รอดไปด้วยกันในภาวะวิกฤติเช่นนี้”