25 พฤศจิกายน 2563 : ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI เปิดเผยถึงเป้าหมายการดำเนินงานในปี 2564 บริษัทฯ คาดว่าจะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมขยายตัวร้อยละ 5.0 โดยคาดการณ์ว่าธุรกิจประกันวินาศภัยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากปัจจัยบวกด้านยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในปีหน้าที่จะปรับเพิ่มขึ้น การลงทุนภาครัฐที่ยังมีต่อเนื่อง ผนวกกับอัตราเบี้ยประกันภัยต่อในตลาดโลกที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นส่งผลดีต่อเบี้ยประกันภัยทรัพย์สิน
ยกตัวอย่างการลงทุนภาครัฐได้แก่ โครงการก่อสร้างพื้นฐานภาครัฐ, โครงการรถไฟความเร็วสูงต่อเชื่อมสนามบิน, โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หรือศูนย์เมดิคัลเซ็นเตอร์ของซีพี เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีเบี้ยรับประกันในกลุ่มนี้ประมาณ 225 ล้านบาทในปี 2564
อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นเป้าหมายการเติบโตที่ค่อนข้างท้าทายเนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยความเสี่ยงจากสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่อาจยังมีความขัดแย้ง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในอัตราที่สูง ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตร้อยละ 3.5-4.5 (ที่มา: สศช.)
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2564 บริษัทฯ เตรียมแผนงานและกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3 ด้าน ดังนี้ 1.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ 2.การพัฒนาการบริการ และ 3.การพัฒนาเทคโนโลยี
1.การพัฒนาผลิตภัณฑ์
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความเสี่ยงภัยด้านสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับมีความกังวลด้านภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น บริษัทฯ จึงได้ออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบโจทย์ด้านความคุ้มครองและกำลังซื้อของลูกค้า ผ่านช่องทางการจำหน่ายที่เข้าถึงได้อย่างสะดวกและง่ายยิ่งขึ้น อาทิ
ประกันภัย Health IPD Plan แบบเหมาจ่าย (ไม่มี Limit ต่อครั้ง) ค่ารักษาพยาบาลจ่ายตามจริง ด้วยเบี้ยประกันภัยเริ่มต้น 9,000 บาท ความคุ้มครองสูงสุด 1 ล้านบาท โดยสามารถเข้ารักษาได้ทุกกลุ่มโรงพยาบาลทั่วประเทศ
ประกันภัยโรคมะเร็ง ในช่องทางออนไลน์ ซื้อง่าย ตอบคำถามสุขภาพเพียงข้อเดียว โดยให้ความคุ้มครองรวมสุงสุด 120,000 บาท ด้วยเบี้ยประกันภัยคงที่ ไม่ปรับเพิ่มตามอายุ เริ่มต้นเพียง 500 บาทต่อปี ครอบคลุมโรคมะเร็งทุกระยะ โดยหากซื้อประกันตอนอายุต่ำกว่า 35 ปี เบี้ยประกัน 500 บาทต่อปี หาต่ออายุไปเรื่อยๆ เบี้ยประกันจะไม่ปรับขึ้นแต่อย่างใด
Personal Cyber Insurance ให้ความคุ้มครองความเสี่ยงภัยจากการใช้อินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมและหลากหลาย อาทิ การถูกโจรกรรมเงิน การซื้อและขายสินค้าออนไลน์ การถูกกลั่นแกล้ง (Cyberbullying) และการถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคในสังคมปัจจุบัน การถูกขู่กรรโชกทรัพย์เมื่อถูกปล่อยมัลแวร์เข้ามาในระบบทำให้ระบบเสียหาย โดยบุคคลทั่วไปสามารถซื้อความคุ้มครองได้ เช่นถูกล้วงข้อมูลจากการซื้อสินค้าจากบัตรเครดิต เป็นต้น
สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ข้างต้น บริษัทฯ ตั้งเป้าไว้ว่าจะทดลองโปรโมทให้บริการก่อนจึงไม่ได้มีการตั้งเป้าหมายมากนัก โดยกำหนดไว้ที่เบี้ยรับในปี 2564 จำนวน 200 ล้านบาทเท่านั้น
2.การพัฒนาการบริการ
บริษัทฯ ได้ร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนา Health Care Platform ให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพ ทั้งในรูปแบบของการประมวลผลเพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโรค( AI Symptom Checker) และการบริการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) โดยการบริการ AI จะเน้นไปที่การใช้ระบบเพื่อวิเคราะห์โรคในเบื้องต้น ให้ผู้ใช้บริการรับทราบผลการวิเคราะห์อาการของโรค
รวมไปถึงการบริการ Telemedicine เป็นบริการอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งจะทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายไม่ต้องเดินทางไปพบแพทย์ สามารถปรึกษาแพทย์เป็นการส่วนตัวผ่านทาง Application เมื่อปรึกษาและได้รับคำวินิจฉัยเรียบร้อยสามารถรับยาตามคำสั่งยาของแพทย์ โดยยาจะถูกส่งให้ลูกค้าตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าได้รับการบริการที่สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถบริหารจัดการเวลาและค่าใช้จ่ายได้มากขึ้นด้วย
3.การพัฒนาเทคโนโลยี
บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญของการเป็น Data Driven Organization ที่ใช้ฐานข้อมูลในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้า โดยเน้นให้ผู้บริหารและพนักงานนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจทางธุรกิจทั้งในงานด้านรับประกันภัย สินไหมทดแทน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่รองรับความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้นำเทคโนโลยีด้าน AI และ Voice Chat BOT มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการให้บริการแก่ลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น อาทิ โครงการระบบงาน AI Claims Contact Center ซึ่งใช้ AI เป็นผู้ช่วยอัจฉริยะในการรับโทรศัพท์จากลูกค้า โดยระบบสามารถประเมินความต้องการของลูกค้าผ่านการสนทนาด้วยน้ำเสียงเสมือนจริง เช่น เมื่อลูกค้าแจ้งอุบัติเหตุ ระบบจะให้ลูกค้าแจ้ง Location และจัดสรรเจ้าหน้าที่สำรวจภัยที่อยู่ใกล้ที่สุดผ่านระบบ E-surveyor ไปให้บริการลูกค้า ณ ที่เกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว
พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นในการเป็น Business Partner ของลูกค้าและคู่ค้าของเรา ด้วยบริการ Risk Management ซึ่งเริ่มตั้งแต่การทำ Risk Survey โดยใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เช่น การทำโปรแกรม Fire Simulation เพื่อจำลองการเกิดเหตุเพลิงไหม้ของสถานที่เอาประกันภัย ทำให้สามารถวางแผนป้องกันและควบคุมความเสียหาย (Fire loss prevention and control) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีอุปกรณ์การสำรวจภัยอื่นๆ อาทิ ตรวจวัดความร้อนสะสมผ่านอุปกรณ์ Thermoscan รวมถึงการสำรวจพื้นที่ของสถานที่เอาประกันภัยในมุมกว้างและสูงโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone Service)
ดร.อภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปถึง ผลดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.63) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 17,135.2 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 ด้านกำไรสุทธิจากการรับประกันภัยหลังหักค่าใช้จ่ายดำเนินงาน เท่ากับ 1,517.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ผ่านมา รายได้สุทธิจากการลงทุน 1,051.5 ล้านบาท ติดลบ 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ทำได้ 1,224.3 ล้านบาท
ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรก่อนหักภาษีเงินได้ 2,774.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% ซึ่งปี 2562 ทำได้ 2,071.1 ล้านบาท และเมื่อหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้แล้ว บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 2,362.7 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน 22.19 บาททั้งนี้ คาดว่าสิ้นปี 2563 บริษัทฯ จะบรรลุเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับ 22,800 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 8.0
สำหรับผลการดำเนินงานในอุตสาหกรรมช่วงเดือนกันยายน 2563 ทำได้ 3,826 ล้านบาท เติบโต 47% โดยบริษัทประกันภัยที่มีผลการดำเนินงานสูงสุด 6 อันดับ ได้แก่ บมจ.วิริยะประกันภัยมีเบี้ยรับ 1,291 ล้านบาท เติบโต 16% อันดับ 2.บมจ.ทิพยประกันภัย 719 ล้านบาท เติบโต 9% อันดับ 3.บมจ.กรุงเทพประกันภัย มีเบี้ยรับ 666 ล้านบาท เติบโต 8% อันดับ 4.บมจ.เมืองไทยประกันภัย มีเบี้ยรับ 439 ล้านบาท เติบโต 5% อันดับ 5 บมจ.สินมั่นคงประกันภัย มีเบี้ยรับ 372 ล้านบาท เติบโต 5% และบมจ.ชับบ์ สามัคคีประกันภัย มีเบี้ยรับ 339 ล้านบาท เติบโต 4%