12 พฤศจิกายน 2563 : การยกระดับเศรษฐกิจของชาติโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาประเทศ “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” (Eastern Economic Corridor) หรือ EEC นับเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศไทย ที่เต็มไปด้วยเมกะโปรเจค และการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ถือเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจเนื้อหอมที่ได้รับความสนใจจากนานาประเทศที่จะเข้ามาลงทุนเป็นอย่างมาก
เกรท วอลล์ มอเตอร์
ในฐานะ “บริษัทที่ให้บริการการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีระดับโลก” (Global Mobility Technology Company) เป็นอีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่จากจีนที่มั่นใจในศักยภาพของประเทศไทย และมีความพร้อมที่จะนำนวัตกรรม เทคโนโลยี รวมไปถึงความรู้ขั้นสูงเพื่อมาช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรม S-Curve ไทย ทั้งด้านยานยนต์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมไปถึงการใช้หุ่นยนต์ในระบบอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไกลไปอีกขั้น
พื้นที่ภาคตะวันออกของไทย นับเป็นพื้นที่สำคัญด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกหรือ Eastern Seaboard ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานมากมาย เมื่อโลกก้าวสู่ยุคดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จึงถูกตั้งขึ้นเพื่อต่อยอดโครงการ Eastern Seaboard ให้ตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมของไทย ดึงดูดนักลงทุนเพื่อเข้ามาลงทุน ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการเพิ่มเม็ดเงินของเศรษฐกิจในภาพรวม แต่ยังรวมไปถึงการช่วยพัฒนาองค์ความรู้ทั้งด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้แก่คนไทยและภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย
EEC จุดยุทธศาสตร์สำคัญในแนวรบเศรษฐกิจไทยและอาเซียน
จากการศึกษาของศูนย์วิจัยตลาดเติบโตสูงของ PwC แสดงให้เห็นว่า กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่กำลังมีบทบาทในเศรษฐกิจโลกมากขึ้น การรวมตัวกันของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการใช้นโยบายเชิงรุกเพื่อเตรียมความพร้อมและกำหนดกลยุทธ์สำหรับการเติบโตในอนาคตจึงได้รับความนิยมมากขึ้น
การพัฒนาพื้นที่ EEC จึงเน้นโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี 5G โครงสร้างด้านสมาร์ทโลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เพื่อรองรับการเข้ามาลงทุนในพื้นที่ให้มีต้นทุนการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และสนับสนุนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมสำคัญตามยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (12 S-Curve Industries) ซึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็คือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive)
จากสถิติล่าสุดพบว่า กลุ่มประเทศอาเซียน มี GDP รวมกันคิดเป็น 3.6% ของ ของ GDP โลก โดย EEC ของประเทศไทยเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในเชิงงบประมาณ และขนาดพื้นที่กว่า 13,266 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา มีประชากรรวมกันกว่า 3 ล้านคน รวมมูลค่า GDP ของทั้ง 3 จังหวัดเท่ากับ 2,464,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 14% ของมูลค่า GDP ประเทศEEC จึงเป็นพื้นที่ศักยภาพที่ดึงดูดการลงทุนระดับเมกะโปรเจคจากนานาประเทศ
ซึ่งข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า สัดส่วนการลงทุนจากต่างชาติในนิติบุคคลที่จัดต้ังในไทย มีการลงทุนในจังหวัดระยองสูงสุด 399,389.60 ล้านบาท ชลบุรี 266,457.87 ล้านบาท และฉะเชิงเทรา 71,164.51 ล้านบาท โดย ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ คือ สามอันดับแรกของประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ช่วงเดือนมกราคม - สิงหาคม 2563 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 277 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนรวม 106,300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 51% ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ
เสริมความแข็งแกร่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
อุตสาหกรรมยานยนต์ นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม S Curve ดาวเด่น ที่น่าจับตามอง ซึ่งประเทศไทยนับได้ว่าเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตรถยนต์ที่สำคัญ โดยเป็นผู้ผลิตยานยนต์อันดับที่ 11 ของโลก อันดับที่ 5 ของเอเชีย และอันดับ 1 ของอาเซียน มีมูลค่าการลงทุนกว่า 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมูลค่าอุตสาหกรรมยานยนต์คิดเป็น 10% ของ GDP ของประเทศ
เกรท วอลล์ มอเตอร์ บริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มั่นใจในศักยภาพประเทศไทย โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์พวงมาลัยขวาในไทยและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งในต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัทได้เริ่มเข้ามาดำเนินการที่โรงงานในจังหวัดระยองอย่างเป็นทางการ ปักหมุดสร้าง “โรงงานอัจฉริยะ” (Smart Factory) เพื่อพัฒนาและยกระดับระบบการผลิตยานยนต์ ผ่านนวัตกรรม เทคโนโลยี องค์ความรู้ และระบบการทำงานต่างๆ
รวมไปถึงการวางแผนที่จะนำหุ่นยนต์ และการเชื่อมโยงระบบข้อมูลอัจฉริยะที่รวมการวิจัย การผลิต การจัดหา และการตลาดเข้าด้วยกัน เพื่อมาเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการทำงาน ลดการใช้แรงงานในส่วนงานที่อันตรายและต้องการความแม่นยำสูงที่สามารถใช้หุ่นยนต์ทดแทนได้ เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานไปทำในส่วนสำคัญอื่นๆ มากยิ่งขึ้น นับได้ว่าเป็นวิสัยทัศน์ในการนำอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ก้าวไปสู่โลกอนาคตอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ เกรท วอลล์ มอเตอร์ มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีศักยภาพเพื่อนำมาส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) อาทิ
· การใช้หุ่นยนต์ และระบบ Welding machine ที่ทันสมัยในกระบวนการผลิตและประกอบรถยนต์ในโรงงาน
· การใช้แพลตฟอร์ม Lemon แพลตฟอร์มอัจฉริยะแบบโมดูล่าร์ระดับโลกที่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับการพัฒนาของรถซีดาน รถเอสยูวี และรถเอ็มพีวี ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงใหญ่ ส่งผลให้ตัวรถมีน้ำหนักเบา สามารถลดแรงระหว่างการขับเคลื่อนให้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
· การใช้แพลตฟอร์ม Tank แพลตฟอร์มระดับโลกเพื่อตอบโจทย์ทุกขีดความสามารถในการผลิตรถยนต์สำหรับการขับขี่แบบออฟโรด
· การใช้ระบบ Coffee Intelligence ระบบอัจฉริยะเพื่อการขับเคลื่อนแห่งอนาคต (Future Mobility) ที่ประกอบด้วย ห้องโดยสารอัจฉริยะ (Intelligent Cab) การขับขี่อัตโนมัติ (Intelligent Driving) และการออกแบบไฟฟ้าอัจฉริยะ (Intelligent Electrical Architecture) ที่จะสร้างประสบกาณ์การขับขี่ที่สะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถในการเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต ที่จะสร้างความสัมพันธ์ใหม่และใกล้ชิดกันระหว่างคนและรถได้มากยิ่งขึ้น
พัฒนาทักษะเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้แรงงานไทยทะยานสู่มืออาชีพระดับโลก
การเข้ามาลงทุนของเกรท วอลล์ มอเตอร์ นอกจากมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการจ้างงาน รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรไทย ทั้งทักษะสมัยใหม่ องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังจะเติบโต และสอดคล้องกับแนวทางการยกระดับการพัฒนาเศรษกิจของประเทศ
โดยบริษัทจะยังคงเดินหน้าดำเนินธุรกิจเพื่อตอกย้ำความมั่นใจให้กับประเทศไทย ในการนำวิสัยทัศน์ ผลิตภัณฑ์ การบริการอัน ยอดเยี่ยม รวมถึงเทคโนโลยีการขับขี่รถยนต์ที่ล้ำสมัย มานำเสนอให้กับผู้บริโภคชาวไทยได้สัมผัส พร้อมสื่อสาร ข้อมูลความรู้ และนวัตกรรม เพื่อให้คนไทยเข้าสู่ยุคของอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งโลกอนาคต