10 พฤศจิกายน 2563 : อีกแค่เดือนกว่าก็จะจบปี 2563 แล้ว หลายคนไม่เคยคาดมาก่อนว่า ปี2563 จะเป็นปีที่ย้ำแย่ที่สุด ที่ไม่ได้เป็นเฉพาะประเทศไทยแต่กับเป็นทั่วโลก เศรษฐกิจโลกติดลบอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ขณะที่ไทยเองปีนี้ก็ติดลบไม่น้อย ธนาคารโลกได้ประเมินอัตราการเติบโตของไทย (จีดีพี) ในปีนี้ในระดับพื้นฐานจะอยู่ที่ติดลบ 8.3% จากปีที่แล้ว
หลังจากที่รัฐคลายล็อคดาวน์และออกแคมเปญผ่านโครงการต่างๆ ทั้ง โครงการเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง และโครงการช๊อปดีมีคืน ทำให้ภาพการการจับจ่ายใช้สอยในประเทศเริ่มกลับมาดีขึ้น แม้จะช่วยดันเศรษฐกิจไทยไม่ติดลบได้ก็ตาม มาในฝั่งธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของไทยกันบ้าง ถือว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากจะสินเชื่อควรที่จะปล่อยได้แผนที่วางไว้เมื่อต้นปีของแต่ละธนาคาร ก็ต้องมารื้อแผนธุรกิจกันใหม่หมด และหันมาเน้นการดูแลลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19แทน เพื่อไม่ให้ไปสู่การเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)
การระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ทำให้คนตกงานแบบไม่ทันตั้งตัวจำนวนมาก เนื่องจากธุรกิจหลายแห่งไปไม่ไหว โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวกับท่องเที่ยวที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก นักท่องเที่ยวต่างชาติแต่ละปีจะเข้ามาไทยไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน แต่ตอนนี้ต้องถูกจำกัด กิจการที่พึ่งกลุ่มต่างชาติในการทำธุกิจก็ล้มทั้งยืน ขณะที่กลุ่มเกี่ยวกับส่งออกก็ได้ผลกระทบไม่แพ้กัน การปิดประเทศเพื่อป้องกันการระบาดโควิด-19 ทำให้การส่งออกจากไทยไปไม่ได้เช่นกัน
ด้วยปัญหาเหล่านี้ สถาบันการเงินที่เป็นแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการเหล่านี้ ย่อมเดือดร้อน และต้องพยายามช่วยลูกค้านี้ฝ่าวิกฤตไปให้ได้ เพื่อไม่ให้เจ็บกันทั้งคู่ หลากลูกค้ากลายเป็น NPL แบงก์ที่ให้สินเชื่อก็ต้องควักเงินสำรองหนี้เสียตาม IFRS 9 แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะอนุโลมในช่วงนี้ก็ตาม แต่สถาบันการเงินแต่ละแห่งก็พากันสำรองหนี้เสียไว้ล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยง ดังนั้น แผนธุรกิจของแบงก์ในปีหน้า ยังคงมุ่มเน้นดูแลลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่แน่นอน
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างจัดทำแผนธุรกิจปี 2564 ทั้งนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพสินทรัพย์และลูกค้าควบคู่กันไป โดยเฉพาะในช่วงปี 2564 จำเป็นต้องประคับประคองลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพราะในช่วงปี 2563 เศรษฐกิจไทยติดลบมาก แต่ในช่วงปีหน้าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะทยอยเติบโตขึ้นได้
ทั้งนี้ ในส่วนของสินเชื่อธนาคารในช่วงปีหน้า ยังคงต้องดูตามภาวะตลาดเป็นหลัก ซึ่งธนาคารมองว่าสินเชื่อภาครัฐยังคงเติบโตได้ดีในช่วงปี 2564 ตามโครงการภาครัฐต่างๆ ที่ออกมาเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ดังนั้น สินเชื่อธนาคารจะเน้นไปยังกลุ่มสินเชื่อภาครัฐเป็นหลัก ส่วนเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้ของอุตสาหกรรม แต่ละธนาคารก็มีมาตรการที่แตกต่างกันไปอย่างเหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละกลุ่มของลูกค้า และมีการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด
“แผนธุรกิจธนาคารยังคงเน้นเรื่องการประคองลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งจะควบคู่ไปกับการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ อย่างปีนี้เศรษฐกิจไทยติดลบมาก สถานการณ์ยังคงเปราะบาง ธนาคารยังคงต้องระวังเรื่องนี้อย่างมากและต่อเนื่อง ส่วนการประคองลูกค้านั้นจะเป็นเรื่องของการลดภาระเพื่อให้ลูกค้ามีเวลาหายใจให้ได้มากที่สุด ซึ่งทั้งระบบต่างก็ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก” นายผยง กล่าว
นายพิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า ในปี 2564 ธนาคารจะเน้นขยายธุรกิจไปต่างประเทศมากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยืนยันว่าการเติบโตของธุรกิจในช่วงวิกฤติยังต้องมี และสินเชื่อยังเติบโตแน่นอนแต่จะเติบโตเท่าไรนั้น จะยังอยู่ในช่วงที่รับได้ เพราะส่วนหนึ่งจะได้แรงสนับสนุนด้านสินเชื่อจากต่างประเทศที่ยังคงเป้าหมายขยายไป AEC+3
อีกทั้งสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการ ซึ่งยังต้องให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกค้าให้อยู่รอดต่อไปในปีหน้า และการออกหุ้นกู้ AT1 เป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นเงินทุนเพื่อใช้ในการขยายการเติบโตในต่างประเทศ เพราะในตอนนี้ต่างประเทศยังมีความสามารถที่จะขยายและเติบโตได้ จึงจะเน้นเติบโตต่างประเทศค่อนข้างมาก ซึ่งจะขยายไป AEC+3
นายพิพัฒน์พงศ์ กล่าวว่า ธนาคารพยายามสนับสนุนภาคธุรกิจในการปล่อยสินเชื่อ แต่จะต้องขึ้นอยู่กับกฎระเบียบทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ว่าสามารถทำได้แค่ไหน ส่วนแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อจะเข้มงวดมากขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์หรือโรงแรมขึ้นอยู่กับรายได้และความสามารถชำระหนี้เป็นหลัก โดยธนาคารต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้อยู่รอดให้ผ่านพ้นวิกฤติ ไม่ว่าจะมาตรการใดก็พร้อมสนับสนุนทุกรูปแบบ เพื่อประคับประคองกันไปให้ได้ เช่น การยืดหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น
ส่วนคุณภาพหนี้เชื่อว่าจะทรงตัวกันหมด ส่วนคุณภาพหนี้จะด้อยลงหรือไม่ ไม่สามารถบอกได้ในขณะนี้ เพราะผู้ประกอบบางรายยังแข็งแรง เช่นเดียวกับภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่ยังเป็นบางพื้นที่ เนื่องจากหากพื้นที่นั้นๆ ยังมีนักท่องเที่ยวอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติที่เข้ามาอยู่ยาวทำให้พื้นที่นั้นก็ยังดีอยู่ เว้นแต่บางพื้นที่ที่มีอุปทานส่วนเกิน(โอเวอร์ซัพพลาย)สูงอาจจะมีปัญหาได้